
ภาษี ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนทำงาน หลายคนคุ้นเคยกับการยื่นภาษีประจำปี 2566 ที่ผ่านมาอย่าง ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา แต่สำหรับการเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการ นอกจากปัจจัยเกี่ยวกับการทำธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการสินค้า คำนวณต้นทุนกำไรของกิจการแล้ว เรื่องของการจดยื่นภาษี ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกควรไม่ควรมองข้าม บทความนี้ OfficeMate หยิบเอาเช็กลิสต์ ภาษีสำหรับผู้ประกอบการ ให้เหล่าผู้ประกอบการมาตรวจสอบว่ามีภาษีอะไรที่ต้องเสียบ้าง เพื่อการประกอบธุรกิจอย่างราบรื่น ลองมาติดตามกัน
ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?
สำหรับภาษีที่ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องรู้และมีความเข้าใจ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีสำหรับคนทำธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบบริษัทฯ หรือ ห้างหุ้นส่วน และมีรายได้จากการประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องยื่นภาษีอากรในชื่อ ‘ประมวลรัษฎากร’ โดยแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคลมีสองแบบ แบ่งเป็น แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ภาษีสำหรับรอบบัญชีที่ต้องยื่นภายใน 150 วัน หลังจากวันที่ปิดระบบบัญชี และแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ที่ต้องยื่นภายในสองเดือนหลังรอบบัญชีภาษีครึ่งปี
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
เป็น ภาษีที่ถูกหักไว้ล่วงหน้า โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีไว้เมื่อมีการจ่าย ซึ่งเป็นไปตามประเภทของเงินได้และอัตราภาษีที่กำหนด โดยคนที่หักภาษี ต้องนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 3 กรณีที่หักบุคคลธรรมดา และ ภ.ง.ด. 53 กรณีที่หักนิติบุคคล ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นภาษีที่มาจากมูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการ มีอัตราคงที่อยู่ที่ 7% โดยผู้ประกอบการต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าและบริการ และออกใบกำกับภาษีเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บ และต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนทุกเดือนภาษี
4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีที่จัดเก็บสำหรับการประกอบกิจการเฉพาะในบางธุรกิจ อาทิ ธนาคาร ประกันชีวิต โรงรับจำนำ หรือ การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจ FinTech ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจเข้าข่ายต้องเสียภาษีประเภทนี้ก็สามารถข้ามไปได้
5. อากรแสตมป์
จัดเป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภทหนึ่ง โดยเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอากรแสตมป์ ซึ่งใช้ร่วมกับเอกสารแสดงสิทธิ์ต่างๆ อาทิ สัญญาจ้าง กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน เช่าที่ดิน สัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากสัญญาที่เป็นปากเปล่าไม่มีหนังสือหรือเสียภาษีอากรแสตมป์นั้นไร้ผลทางกฎหมาย ไม่สามารถเป็นพยานในคดีแพ่งได้
ภาษีอื่น ๆ ที่ต้องยื่นและตรวจสอบ
นอกจากภาษีผู้ประกอบการทั้ง 5 ประเภทที่กล่าวมา อาจมีภาษีประเภทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเพิ่มเติม
ภาษีบำรุงท้องที่
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินเปล่าหรือมีสิ่งปลูกสร้างเจ้าของที่ดินต้องมีการแจ้งจ่ายภาษี หากผู้ประกอบการมีการเช่าที่ดินเพื่อทำธุรกิจ ควรมีการสอบถามเรื่องการยื่นจ่ายภาษีที่ดินจากเจ้าของที่ดิน หรือเป็นกรรมสิทธิ์ใหม่ ควรยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ภ.บ.ท.5
ภาษีป้าย
อันนี้สำคัญมาก เป็นภาษีที่เก็บจากการแสดงป้ายทุกชนิด ทั้งป้ายร้านค้าและป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ โดยจะต้องยื่นประเมินเพื่อเสียภาษีป้ายตามขนาดของป้าย ห้างไม่แจ้งหรือแสดงหลักฐานการเสียภาษีป้ายมีโทษปรับสูงถึง 50,000 บาท
ไม่ผิดหากจะคิดว่าภาษีเป็นเรื่องซับซ้อน โดยเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีประเภทต่าง ๆ เอาไว้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังมีส่วนให้ผู้ประกอบการได้ยื่นแบบภาษีออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว แต่หากคนทำธุรกิจที่ไม่แน่ใจว่าเราต้องเสียภาษีอย่างไร สามารถติดต่อโดยตรงกับกรมสรรพากรเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
- สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2565 เตรียมพร้อมยื่นภาษีปี 2566
- คู่มือภาษีสำหรับฟรีแลนซ์ : ประเภทเงินได้ และการลดหย่อนภาษี
- ขายของออนไลน์พร้อมทำงานประจำ ต้องเสียภาษีอย่างไร?
อ้างอิง: กรมสรรพากร