คนไทยทุกคนที่มีรายได้เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ล้วนต้องยื่นภาษีตามกฎหมายกันทั้งนั้น สำหรับชาวฟรีแลนซ์ที่กำลังปวดหัวเรื่องภาษีทุกสิ้นปี วันนี้ OfficeMate รวบรวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับการยื่นภาษีของชาวฟรีแลนซ์ ทั้งประเภทของเงินได้ เอกสารที่ต้องเตรียม และการลดหย่อนภาษี อ่านจบ ไม่งง ยื่นเป็นแน่นอน ไปดูกันเลย!  

อาชีพฟรีแลนซ์ คืออะไร?

ฟรีแลนซ์ (Freelance) คือ หนึ่งในอาชีพรับจ้างอิสระ ไม่สังกัดองค์กร บริษัท หรือหน่วยงานใด แม้จะมีผู้ว่าจ้าง แต่ก็ถือว่าชาวฟรีแลนซ์นั้นเป็นนายตัวเอง ซึ่งเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คนในยุคสมัยนี้ และด้วยความที่เป็นนายตัวเอง ก็ต้องจัดการเรื่องเงิน และเรื่องภาษีด้วยตัวเองเช่นกัน  

บทความที่เกี่ยวข้อง : 6 ข้อต้องคิด ก่อนผันตัวจากมนุษย์ออฟฟิศมาเป็นฟรีแลนซ์

ฟรีแลนซ์ยื่นภาษีแบบไหน?

ฟรีแลนซ์ ภาษี

รายได้ของชาวฟรีแลนซ์จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2) ในประมวลรัษฎากร ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90

เงินได้ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2) ได้แก่ เงินที่ได้จากหน้าที่, ตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน หรือเงินที่ได้จากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นประจำ หรือชั่วคราว

ซึ่งการคำนวณภาษีในเงินได้ประเภทที่ 2 นี้ ก็ยังคงใช้เกณฑ์อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งคิดจาก ‘เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี’ เช่นเดียวกันกับชาวมนุษย์เงินเดือน ได้แก่

  • เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
  • เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%
  • เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%
  • เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%
  • เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
  • เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
  • เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
  • เงินได้สุทธิ มากกว่า 5,000,001 บาท อัตราภาษี 35%

ฟรีแลนซ์โดนหักภาษี 2 รอบ 

ชาวฟรีแลนซ์นั้น ต้องโดนหักภาษี 2 รอบ รอบแรก คือ การหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งนายจ้างจะเป็นคนหักก่อนจ่ายเงินค่าจ้าง ส่วนรอบที่ 2 คือ หักภาษีจากการยื่นภาษีประจำปี 

แต่! ชาวฟรีแลนซ์อย่าเพิ่งขมวดคิ้ว เพราะถึงจะบอกว่าโดนหักภาษี 2 รอบ แต่การยื่นภาษีประจำปีนั้น ‘ไม่เท่ากับ’ การเสียภาษีเสมอไป หากคำนวณแล้ว ภาษีที่ต้องจ่ายมากกว่า 3% ที่นายจ้างหัก ณ ที่จ่ายไป ฟรีแลนซ์ในกลุ่มนี้จะต้องจ่ายภาษีประจำปีเพิ่ม แต่ถ้ารวมแล้วน้อยกว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฟรีแลนซ์ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แถมยังสามารถขอคืนภาษีที่โดนหักไปได้อีกด้วย

ขั้นตอนจัดการภาษี สำหรับชาวฟรีแลนซ์

1.รวบรวมเงินได้พึงประเมิน คำนวณเงินได้สุทธิ

สิ่งที่เอามาคำนวณภาษี คือ จำนวนเงินได้สุทธิ ที่คิดจาก ‘เงินได้พึงประเมิน’ 

โดยปกติแล้ว หากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่สังกัดกับหน่วยงาน จะมี ‘ทวิ 50’ เป็นข้อมูลเงินเดือน โบนัส ประกันสังคม ฯลฯ ซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นภาษีได้เลย แต่สำหรับชาวฟรีแลนซ์ที่ไม่มี ทวิ 50 จะต้องเตรียมเอกสาร และคำนวณเงินได้พึงประเมินด้วยตัวเอง

ซึ่งหลักฐานนี้ ก็คือ ‘ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย’ ที่ฟรีแลนซ์จะได้รับจากผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่เงินค่าจ้างเกิน 1,000 บาท ขึ้นไป สำหรับเงินค่าจ้างที่ไม่เกิน 1,000 บาท อาจจะเก็บเป็นหลักฐานการโอนเงิน รวบรวมเอาไว้ทุกครั้ง เพราะต้องนำมาคิดรวมเป็นเงินได้พึงประเมินด้วยเช่นกัน

เมื่อรวบรวมเงินได้พึงประเมินของทั้งปีเอาไว้แล้ว ก็เอามาคำนวณเงินได้สุทธิ เพื่อนำไปเทียบอัตราภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งเงินได้สุทธิมาจาก 

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน  

ฟรีแลนซ์ ภาษี

2.ค่าใช้จ่าย และการลดหย่อนภาษีสำหรับชาวฟรีแลนซ์

ค่าใช้จ่ายของชาวฟรีแลนซ์

ค่าใช้จ่ายของชาวฟรีแลนซ์จะหักจากเงินได้พึงประเมิน โดยหักแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ฟรีแลนซ์ลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง?

  • ลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการ หลักฐานที่ต้องใช้ คือ ใบกำกับภาษีที่ได้จากร้านค้าเมื่อเข้าไปใช้บริการหรือซื้อสินค้านั้นๆ เก็บรวบรวมเอาไว้ สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องดูตามโครงการ หรือมาตรการจากภาครัฐเท่านั้นนะ
  • ลดหย่อนส่วนตัว ไม่เกิน 60,000 บาท
  • ลดหย่อนภาษีจากการทำประกัน ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันสังคม
  • ลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุน เช่น หุ้น กองทุน LTF หรือ RMF
  • ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค เช่น บริจาคสนับสนุนพรรคการเมือง บริจาคเพื่อการศึกษา บริจาคให้โรงพยาบาลรัฐ ฯลฯ อย่าลืมขอหลักฐานการบริจาคเอาไว้ด้วยนะ!

*ทั้งนี้ รายการลดหย่อนภาษีให้ยึดตามกฎเกณฑ์ล่าสุด เพราะจะมีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์กันทุกปี อย่าลืมติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ จะได้วางแผนลดหย่อน เซฟเงินในกระเป๋าได้ทัน!

เมื่อรู้วิธีคำนวณภาษีและอัตราภาษีที่ต้องเสียแล้ว อย่าลืมประเมินเงินได้สุทธิของตัวเองเอาไว้คร่าวๆ และเตรียมเงินสำรองเอาไว้สำหรับจ่ายภาษีช่วงต้นปี 

3.ยื่นภาษี

สำหรับการยื่นภาษีสามารถทำได้ 3 วิธี คือ

  1. ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ด้วยตัวเอง ที่สำนักงานกรมสรรพากรในจังหวัดนั้นๆ 
  2. สำหรับฟรีแลนซ์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถส่งแบบฟอร์มผ่านไปรษณีย์ได้
  3. ยื่นออนไลน์ ในเว็บไซต์กรมสรรพากร แล้วชำระภาษีผ่านบัตรเครดิต  

การยื่นภาษีไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการโดนตรวจสอบย้อนหลัง เพราะฉะนั้นชาวฟรีแลนซ์ทุกคน อย่าลืมวางแผน คำนวณ และยื่นภาษีตามกฎหมายทุกปีกันนะ!

ทำงานอยู่บ้าน ช้อปออนไลน์ที่บ้านสบายๆ กับเว็บไซต์ OfficeMate อยากได้คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ค, เครื่องปริ้นเตอร์, เก้าอี้เพื่อสุขภาพ, เมาส์ หรือคีย์บอร์ดอันใหม่ เรามีทุกอย่างที่ชาวฟรีแลนซ์ต้องการ! แถมด้วยบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก