เข้าสู่ช่วงท้ายปีแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมตัวทำคือการยื่นลดหย่อนภาษี 2565 เช็กรายการลดหย่อนภาษีว่ามีอะไรบ้าง สำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ที่มีเกณฑ์ต้องยื่นภาษีจะต้องรวบรวมเอกสารให้ถูกต้องและครบถ้วน สามารถนำไปยื่นได้ที่กรมสรรพากร หรือจะใช้ช่องทางออนไลน์โดยการยื่นเอกสารผ่านทางเว็บไซต์หรือทางแอปพลิเคชัน หากมีการเตรียมตัวการยื่นลดหย่อนภาษีอย่างรอบคอบนั้นจะทำให้คุณเสียภาษีน้อยลงและได้รับเงินคืนอีกด้วย วันนี้ OfficeMate ได้สรุปรายการลดหย่อนภาษี การยื่นลดหย่อนภาษีปี 2565 มาให้แล้วไปเช็กกันเลย!

เริ่มต้นวางแผนลดหย่อนภาษี

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือฟรีแลนซ์ที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปีนั้นจำเป็นจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นประจำทุกปี โดยจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีนั้นขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคน ยิ่งมีรายได้มากก็ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการวางแผนลดหย่อนภาษีนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทุกคนสามารถเริ่มวางแผนภาษีล่วงหน้าแบบง่ายๆ ตั้งแต่ต้นปีด้วยการนำรายได้ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง และโบนัสของปีที่แล้วมาใช้คาดการณ์รายได้ที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงในปีนี้ จากนั้นนำมาหักค่าลดหย่อนต่างๆ ที่สามารถใช้สิทธิได้ เพื่อหาเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได โดยทั่วไปมีสูตรการคำนวณภาษีขั้นพื้นฐาน 2 สูตรที่คุณควรรู้ ได้แก่

  1. สูตรคำนวณหาเงินได้สุทธิ เงินได้สุทธิ = รายได้ (ต่อปี) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
  2. สูตรคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายจากเงินได้สุทธิ ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี

เช็กลิสต์รายการสิทธิลดหย่อนภาษีปี 2565

1.สิทธิลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ทุกคนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไข
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท สามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ เอกสารที่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีคือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ซึ่งต้องเป็นบุตรตามกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 20 – 25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
    – กรณีมีเฉพาะบุตรตามกฎหมาย: ลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
    – กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: ลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
    – กรณีมีทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส
    กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเอง: ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีในปีภาษีนั้น และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
    กรณีเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรส: ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 2 คน จะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรมของคู่สมรส และคู่สมรสไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ (ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดามารดา – บุตร – คู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองประเภท)

2. สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม ประโยชน์สาธารณะและสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

  • เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท (จากปกติ 9,000 บาท)
  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • กลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

  • โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

ระยะเวลาการยื่นภาษี 2565

ระยะเวลาการยื่นภาษี 2565 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 มีนาคม 2566 แต่ถ้ายื่นออนไลน์ จะได้ถึง 8 เม.ย. 2566

ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง?

  • ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  • ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th
  • ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรเป็นอันดับแรก จึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้

ยื่นลดหย่อนภาษีต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น)

  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
  • รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี

กรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • ผู้พิการ และมีบัตรประจำตัวคนพิการว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
  • ผู้สูงอายุ และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
  • มีเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น สามารถใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล

การเตรียมตัววางแผนภาษีนั้นถือว่าเป็นการวางแผนชีวิต วางแผนทางการเงินของเราให้รัดกุมและเป็นระบบมากขึ้น OfficeMate หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะคะ ช้อปออนไลน์ได้แล้ววันนี้มีสินค้าครบครันทุกประเภทในราคาประหยัด พร้อมโปรโมชันต่างๆมากมาย