
เมื่อเราทำธุรกิจของตัวเองมาถึงจุดนึง หลายคนมีความคิดที่จะจดทะเบียนบริษัทเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ บางคนอยากจดทะเบียนบริษัทเพื่อรองรับการรับงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้น หรือบางคนอยากจดทะเบียนบริษัทเพื่อลดภาระด้านภาษี แต่ปัญหาหนึ่งของคนที่มีความคิดอยากจะจดทะเบียนบริษัทก็คือการ “ไม่รู้” ไม่รู้ว่าการจดทะเบียนบริษัทจะต้องทำยังไง! ไม่รู้ว่าจดทะเบียนบริษัทจะต้องเตรียมตัวยังไง! ทำให้หลายคนถึงกับล้มเลิกความคิดที่จะจดทะเบียนบริษัทกันไปเลยก็มี เพราะขี้เกียจมานั่งศึกษาและทำความเข้าใจ บางคนเสียเงินไปจำนวนไม่น้อยเพื่อใช้บริการรับจ้างจดทะเบียนบริษัท แต่วันนี้ OfficeMate มีสรุป 3 ขั้นตอนหลักๆ ในการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ด้วยตัวเองแบบเข้าใจง่าย ใครๆ ก็ทำได้ มาให้กันแบบฟรีๆ การจดทะเบียนบริษัทจะมีขั้นตอนยังไงบ้างไปติดตามกันเลยค่ะ!!!
3 ขั้นตอน จดทะเบียนบริษัท (จำกัด) ผ่านระบบจดทะเบียนออนไลน์ด้วยตัวเอง

จดทะเบียนบริษัท ขั้นตอนที่ 1 :จองชื่อบริษัท
ก่อนที่จะจดทะเบียนบริษัท สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการจองชื่อบริษัทนั่นเองค่ะ โดยการจองชื่อบริษัทนั้นสามารถทำได้ 2 วิธีคือ
1.ไปจองด้วยตัวเองที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตหรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่
2.จองชื่อผ่านอินเตอร์เน็ต โดยจะต้องเข้าไปทำการสมัครสมาชิกในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่เมนู จองชื่อ/ตรวจคำขอจดทะเบียนนิติบุคคล
หลังจากนั้น log in เข้าสู่ระบบ ระบบจะให้ใส่ชื่อที่คุณจะขอใช้ในการจดทะเบียนบริษัทได้ 3 ชื่อ โดยทั้ง 3 ชื่อนั้นจะต้องไม่ซ้ำกับชื่อที่บุคคลอื่นใช้ในการจดทะเบียนบริษัทไปแล้ว ในกรณีที่ชื่อบริษัทของคุณไม่ได้ซ้ำกับชื่อที่มีการใช้จดทะเบียนบริษัทแบบตรงตัว สามารถลองขอจดทะเบียนบริษัทในชื่อนั้นได้ (แต่ถ้าซ้ำแบบตรงเป๊ะๆ จะขอจดทะเบียนบริษัทในชื่อนั้นไม่ได้แน่นอน)
หลังจากกด submit ไปแล้ว นายทะเบียนจะใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 30 นาที หากมีข้อความแจ้งว่าชื่อที่เราจองสามารถใช้ได้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนของการจองชื่อสำหรับจดทะเบียนบริษัทค่ะ
ข้อควรระวัง
- ชื่อที่ผ่านการตรวจสอบและอนุญาตให้ใช้ในการจดทะเบียนบริษัทจะต้องยื่นจดทะเบียนไม่เกิน 30 วันหลังจากวันที่นายทะเบียนรับรองชื่อนั้นเรียบร้อยแล้ว
- ตรวจสอบความถูกต้องของชื่อที่จะใช้จดทะเบียนบริษัทให้ดี เพราะหากผ่านการตรวจสอบแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องกลับไปเริ่มทำทุกอย่างใหม่หมด!
จดทะเบียนบริษัท ขั้นตอนที่ 2 : เตรียมข้อมูล
ขั้นตอนต่อไปของการจดทะเบียนบริษัทก็คือการเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัทค่ะ
หนังสือบริคณห์สนธิ คืออะไร?
หนังสือบริคณห์สนธิ คือ “ตราสารจัดตั้งนิติบุคคลชนิดหนึ่งที่กำหนดกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท” มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆ ของธุรกิจ เช่น วัตถุประสงค์, ข้อมูลผู้ถือหุ้น, ข้อมูลกรรมการบริษัท,ข้อมูลผู้เริ่มก่อการ, ทุนจดทะเบียน เป็นต้น
การจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ มีรายละเอียดและขั้นตอนค่อนข้างเยอะ แต่ไม่ต้องกังวลนะคะเพราะเราสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ เพื่อความรวดเร็วควรจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้ครบถ้วน จะได้กรอกข้อมูลทั้งหมดให้ถูกต้องและเสร็จในครั้งเดียว เพราะหนังสือบริคณห์สนธินี้จะต้องยื่นภายใน 30 วัน หลังจากวันที่นายทะเบียนรับรองชื่อบริษัทของคุณเรียบร้อยแล้ว โดยข้อมูลที่ต้องเตรียมมีดังนี้
- ชื่อของบริษัท : ต้องเป็นชื่อบริษัทตามที่ได้จองไว้ใน ขั้นตอนที่ 1
- ที่ตั้งสำนักงานใหญ่/สาขา : ในกรณีที่คุณเป็นเจ้าของสถานที่ เช่น บ้าน หรือคอนโด สามารถใช้ที่อยู่ของบ้าน หรือคอนโด เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่/สาขาได้เลย แต่หากคุณไม่ได้เป็นเจ้าของจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ด้วย อย่าลืมจดเลข 11 หลักที่อยู่บนสมุดทะเบียนบ้านและแผนภาพสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ด้วยนะคะ
- วัตถุประสงค์ของบริษัท : จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม สรุปเป็นข้อๆ ให้กระชับได้ใจความ และครอบคลุมกิจการทั้งหมด สามารถมีหลายข้อได้ (แต่วัตถุประสงค์หลักที่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัท มีได้ไม่เกิน 2 ข้อ)
- ทุนจดทะเบียนบริษัท : ส่วนใหญ่นิยมจดที่ 1 ล้านบาท คุณสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนบริษัทได้ที่ จดทะเบียนบริษัท ทุนเท่าไหร่ดี ?
- ผู้ก่อการ : ในความหมายที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือผู้ก่อตั้งนั่นเองค่ะ โดยการจดทะเบียนบริษัทนั้นจะต้องมีผู้ก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (หากมีผู้ก่อการคนเดียวต้องจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์เท่านั้น ไม่สามารถจดทะเบียนบริษัทจำกัดได้) *ผู้ก่อการทุกคนจะต้องลงทะเบียนใช้งานและยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ก่อนที่จะยื่นขอจดทะเบียนบริษัท
- ข้อมูลผู้ถือหุ้น : ชื่อ-สกุล ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน โดยผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งเท่านั้น บุคคลอื่นก็สามารถเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเราได้
- พยาน : ในการจดทะเบียนบริษัทจะต้องมีพยาน 2 คน โดยข้อมูลที่ต้องเตรียมคือ ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ ของพยานแต่ละคน
- รายละเอียดการประชุมจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท ได้แก่
- ข้อบังคับของบริษัท ตามกฎหมายแล้ว บริษัทจำกัดจะมีหรือไม่มีข้อบังคับก็ได้
- กรรมการของบริษัท ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และ วันเกิดของกรรมการบริษัทแต่ละคน
- อำนาจกรรมการ ขั้นตอนนี้เป็นการระบุว่าเอกสารของบริษัทจะต้องมีกรรมการเซนกำกับจำนวนกี่คน จะต้องมีตราประทับหรือไม่ เอกสารถึงจะมีผลในทางกฎหมาย หากมีตราประทับให้เตรียมเอกสารแสดงตราประทับไว้ด้วยนะคะ
- ผู้สอบบัญชี ชื่อผู้สอบบัญชีที่จะต้องใช้ในการจดทะเบียนบริษัทจะต้องระบุ ชื่อ-นามสกุล เลขที่สอบบัญชี และ ค่าใช้จ่ายในการจ้าง (ใส่เป็นยอดประมาณการได้ค่ะ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลขจริง) ชื่อผู้สอบบัญชีใช้เพียงในนามเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วคุณอาจจะจ้างบุคคลอื่นมาเป็นผู้สอบบัญชีก็ได้ (แต่ถ้าเอาแบบชัวร์ๆก็ใส่คนที่เราต้องการจ้างทำบัญชีจริงๆไปเลยก็จะดีกว่า)
- กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ริเริ่มกิจการ
- กำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ อย่าลืมศึกษาเรื่อง ความแตกต่างของ หุ้นสามัญ (Common Stock) และ หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) กันด้วยนะคะ เพราะเราจะต้องกรองรายละเอียดเกี่ยวกับหุ้นทั้งสองชนิดด้วย
- ตัวอย่างแบบฟอร์มทั้งหมดที่ต้องกรอกเพื่อขอจดทะเบียนบริษัท ดาวน์โหลด
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์มขอจดทะเบียนบริษัท คลิก (หากต้องการจดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์ ก็ไม่จำเป็นดาวน์โหลดเอกสาร)
จดทะเบียนบริษัท ขั้นตอนที่ 3 : ขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
- หลังจากทีเราเตรียมข้อมูลต่างๆ สำหรับจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าไปกรอกข้อมูลจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ที่ ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องทำการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย จากนั้นจะได้รับ User Name และรหัสผ่านสำหรับเข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยจะส่งมาให้ผ่านทางอีเมล
- หลังจากดำเนินการยืนยันตัวตนและเปิดใช้งานรหัสเรียบร้อยแล้วก็นำข้อมูลที่เตรียมไว้ไปกรอกใน ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ได้เลย
- เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ให้รอการตรวจสอบเอกสารจากนายทะเบียน
- หากเอกสารผ่านการตรวจสอบเรียบร้อย จะมีอีเมลแนบข้อมูลการขอจดทะเบียนบริษัทพร้อมด้วยรหัสผ่านไปยังกรรมการและผู้ถือหุ้นทุกคน เพื่อใช้ในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทและชำระค่าธรรมเนียม *ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัทจากเดิม 5,500 บาท แต่ถ้าหากจดทะเบียนบริษัทผ่านออนไลน์ หรือ e-Registration จะจ่ายค่ารรมเนียมแค่ 2,750 บาท เท่านั้น
- หลังจากนั้นรอให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน และรอรับเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทก็เป็นอันเสร็จสิ้น
อ่านข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท e-Registration เพิ่มเติมที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับ 3 Step ในการจดทะเบียนบริษัท (ออนไลน์) ด้วยตัวเอง จริงๆ แล้วการจดทะเบียนบริษัทไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิดเลยใช่ไหมล่ะคะ เพียงสามขั้นตอนง่ายๆ แค่นั้นเอง อาจจะมีข้อมูลที่ต้องเตรียมเยอะหน่อย แต่ถ้าเราทำความเข้าใจดีๆ แล้วเตรียมข้อมูลให้พร้อม และอ่านบทความนี้ รับรองว่าช่วยคุณจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองได้แบบไม่ต้องไปเสียเงินจ้างใครเลยล่ะค่ะ นอกจากจะไม่เสียเงินแล้วยังช่วยประหยัดเวลาได้อีกด้วย เพราะการจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองเราสามารถลดเวลาในการประสานงานออกไปได้ ไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างบริษัทรับจ้างจดทะเบียนบริษัท ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางอีกด้วย
OfficeMate ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังพยายามศึกษาหาข้อมูลเพื่อจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองนะคะ เชื่อเถอะค่ะว่าถ้าเราตั้งใจทำอะไรแล้ว ยากแค่ไหนก็ทำได้! ออฟฟิศเมทพร้อมจะเป็นผู้ช่วยของธุรกิจคุณนะคะ!
เข้ามาช้อปสินค้าและอุปกรณ์เพื่อธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเปิดโรงงาน, คลินิก, คาเฟ่/ร้านอาหาร หรือจะขายของออนไลน์ เราก็พร้อมให้บริการด้วยสินค้าคุณภาพ ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณรันต่อไปได้แบบไม่มีสะดุด ช้อปวันนี้ครบ 499 บาท มีบริการส่งฟรีถึงหน้าบ้าน หรือจะติดต่อขอรับเครดิตเทอม ซื้อก่อนจ่ายทีหลังก็ได้ คลิกเลยที่ OfficeMate
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, www.smethailandclub.com