เชื่อว่าหลายๆคนคงต้องเคยเจอกับสถานการณ์ งง! มึน! สับสน! เวลาที่ต้องไปเลือกซื้อ แบตเตอรี่ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ถ่านไฟฉาย” อย่างแน่นอน เพราะในเชลล์ที่วางขายถ่านนั้น เต็มไปด้วยถ่านหลากหลายชนิด หลากหลายยี่ห้อ เยอะจนไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อถ่านแบบไหนดี วันนี้ออฟฟิศเมทเลยมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ ถ่าน หรือ “ถ่านไฟฉาย” มาฝากกันค่ะ

แบตเตอรี่ หรือ ถ่านไฟฉาย มีกี่แบบ

ปัจจุบัน ถ่านไฟฉายที่เราใช้งานกันจำแนกตามความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นสองประเภทหลักๆ

ถ่านแบบชาร์จไม่ได้

ถ่านแบบชาร์จไม่ได้เป็นถ่านแบบใช้แล้วทิ้ง มี 2 ประเภท ได้แก่

ถ่านไฟฉายทั่วไป (คาร์บอน-สังกะสี)

ถ่านชนิดนี้ใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 กระแสไฟฟ้าที่ได้จากถ่านชนิดนี้เกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมีของสังกะสีซึ่งเป็นขั้วลบ กับ แมงกานีสไดออกไซด์ผสมกับวัสดุอื่นๆ (เช่น เกลือแอมโมเนีย) ซึ่งเป็นขั้วบวก เป็นถ่านไฟฉายที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น และให้กระแสไฟฟ้าน้อย นิยมใช้กับ นาฬิกาตั้งโต๊ะ รีโมททีวี วิทยุขนาดเล็ก อื่นๆ อีกหนึ่งข้อเสียของถ่านชนิดนี้คือมักจะเสื่อมสภาพได้ง่ายระหว่างที่รอการจำหน่าย แต่ถ่านชนิดนี้จะมีราคาถูกที่สุด

ถ่านไฟฉายอัลคาไลน์

พัฒนาเพื่อใช้กับงานที่ต้องการกระแสไฟฟ้าสูง มีอายุการใช้งานสูงกว่าถ่านไฟฉายแบบธรรมดาถึง 10 เท่า ทำให้ถ่านชนิดนี้มีราคาแพงกว่าถ่านไฟฉายแบบทั่วไป ความจุของถ่านชนิดนี้ก็จะสูงกว่าถ่านไฟฉายแบบธรรมดา ดังนั้นควรใช้ถ่านอัลคาไลน์กับพวกอุปกรณ์ที่กินไฟมากๆ อย่างเช่น กล้องถ่ายรูป แฟลช เครื่องเล่นมัลติมีเดียต่างๆ

ถ่านแบบชาร์จได้

ถ่านแบบชาร์จได้หรือที่เราเรียกกันว่า “ถ่านชาร์จ” สามารถนำถ่านที่หมดพลังงานกลับมาใช้ใหม่ได้ มี 2 ประเภท เช่นกัน

ถ่านชาร์จประเภท NICD หรือ Nickle Cadmium

เป็นถ่านชาร์จรุ่นแรก ๆ ความจุเริ่มต้น ค่อนข้างต่ำ มีข้อจำกัดคือต้องใช้จนหมดจึงจะนำมาชาร์จใหม่ได้ มิเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหา Memory Effect คือ ถ่านใช้งานได้สั้นลงแม้ว่าจะชาร์จจนเต็มแล้ว ปัจจุบันความนิยมของถ่านชนิดนี้ลดลงมาก เนื่องจากเป็นถ่านที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่นัก จึงหาซื้อตามท้องตลาดได้ยาก

ถ่านชาร์จประเภท NiMH (Nickle Metal Hidried)

ปัญหา Memory Effect ของถ่านชนิดนี้มีน้อยกว่าแบบ NICD หรือ Nickle Cadmium มาก และมีความจุเยอะกว่ามากเช่นกัน และยังเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าถ่านชนิด NIDC ทำให้ถ่านชนิดนี้ได้รับความนิยมสูง แต่มีข้อเสียเล็กน้อยคือถ่านแบบ NiMH จะมีน้ำหนักมากกว่า NICD

ถ่านไฟฉายมีกี่ขนาด?

หลังจากที่เราทราบประเภทของถ่านไฟฉายกันไปแล้ว ต่อมา มาดูกันว่า ถ่านไฟฉายที่วางจำหน่ายในท้องตลาด มีขนาดเท่าไหร่กันบ้าง

ถ่านไฟฉาย ขนาด AA

เป็นถ่านขนาดเล็ก มีขนาด 13.5-14.5×51 ม.ม. ถ่านชนิดนี้มักจะใช้กับนาฬิกาปลุกขนาดเล็ก เครื่องคิดเลข วิทยุขนาดเล็ก หรือ ของเล่นชนิดต่าง ๆ

ถ่านไฟฉาย ขนาด AAA

เป็นถ่านขนาดเล็กจิ๋ว มีขนาด 10.5×44.5 ม.ม. นิยมใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก เช่น รีโมตคอนโทรล เครื่องเล่น MP3 หรือกล้องถ่ายรูปบางชนิด

ถ่านไฟฉาย ขนาด AAAA

เป็นถ่านขนาดเล็กจิ๋วหลิว หาซื้อค่อนข้างยากและมีราคาแพง ขนาด 8.3×42.5 ม.ม. นิยมให้กับรีโมทรถยนต์ หรือ ปากกา

ถ่านไฟฉาย ขนาด C

เป็นถ่านขนาดกลาง มีขนาด 25.8×50 ม.ม. ส่วนใหญ่ใช้กับ นาฬิกา ไฟฉาย วิทยุขนาดใหญ่

ถ่านไฟฉาย ขนาด D

เป็นถ่านไฟฉาย ขนาดใหญ่สุด เส้นผ่าศูนย์กลาง x ความสูง คือ 33×60 ม.ม. ส่วนมากจะใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องการพลังงานมาก เช่น วิทยุ ลำโพง มอเตอร์ไฟฟ้า

ส่วนจะเลือกใช้แบบ ชาร์จได้/ชาร์จไม่ได้ หรือ ธรรมดา/อัลคาไลน์ อันนี้ก็ต้องตรวจสอบกับตัวอุปกรณ์หรือผู้ผลิตอุปกรณ์กันก่อนนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้อุปกรณ์ไม่ทำงานเพราะกระแสไฟไม่เพียงพอได้

ช้อป ถ่านไฟฉาย

How to ใช้ถ่านไฟฉายให้ถูกวิธี

  • ควรเปลี่ยนถ่านพร้อมกันทุกก้อนในคราวเดียวกัน ไม่ปะปนกับถ่านเก่า
  • ปิดสวิตช์อุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน อย่าเปิดค้างไว้โดยไม่จำเป็น
  • ไม่ควรนำถ่านหลายชนิดหรือหลายยี่ห้อมาใช้ปะปนกัน
  • นำถ่านออกจากอุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน
  • ตรวจสอบวิธีการใส่ถ่านและขั้วให้ถูกต้องเสมอ
  • ไม่แกะชิ้นส่วนถ่านออกมาเล่นและไม่ควรวางถ่านไว้ในที่ที่มีความร้อนสูง
  • หลีกเลี่ยงการทำให้ถ่านเกิดการชอร์ตกัน
  • ห้ามนำถ่านที่ชาร์ตไฟไม่ได้มาชาร์ตไฟใหม่ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ค่ะ

อันตรายจากถ่าน

อย่างที่เราทราบแล้วว่าส่วนประกอบของถ่านไฟฉายที่สำคัญคือ สารตะกั่ว สารแมงกานีส สารแคดเมียม สารนิเกิล สารปรอท และสารเคมีต่างๆที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา เช่น กรดซัลฟูริก เป็นต้น สารพิษต่าง ๆ สารเหล่านี้หากไม่ได้รับการจัดการหรือกำจัดอย่างถูกวิธี จะมีโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำ ผิวดิน พื้นดิน และบรรยากาศแล้วแพร่ไปสู่คน พืช และสัตว์ได้จนทำให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง สืบเนื่องมาจากการสัมผัสกับสารพิษหรือกากแบตเตอรี่ใช้แล้วที่มีสารพิษเป็นส่วนประกอบอยู่ ซึ่งสารพิษเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเอาฝุ่นและไอระเหยเข้าไป และโดยการกินอาหารที่มีสารดังกล่าวปนเปื้อน นอกจากนี้ยังคงดูดซึมผ่านทางผิวหนังได้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก

www.klongthom.co.th

pantip.com

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ธนบุรี

World Camera