
หลังการระบาดระลอกใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบันนี้ (พฤษภาคม 2564) ประเทศไทยต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธ์ุมากถึง 4 สายพันธุ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นเชื้อไวรัสที่น่ากังวลระดับโลก!
ไปดูกันว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ทั้ง 4 นี้ มีสายพันธุ์อะไรบ้าง? น่ากังวลมากแค่ไหน? แล้วต้องป้องกันตัวเองเพิ่มเติมอย่างไรถึงจะปลอดภัย?
4 เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ เข้าระบาดในไทยแล้ว!
เชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เดิมที่ระบาดในช่วงปี 2563 – ต้นปี 2564 เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม คือ สายพันธุ์ A.6 และ สายพันธุ์ B.1.36.16 แต่ในการระบาดระลอกใหม่ช่วงก่อนสงกรานต์ (ปลายเดือนมีนาคม 2564) พบว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดเป็นวงกว้าง เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เราติดเชื้อกันได้ไวขึ้น ผลกระทบต่อร่างกายรุนแรงขึ้น และส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น
และในเดือนพฤษภาคมนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์บราซิล P.1 รวมถึงสายพันธุ์อินเดีย B.1.617 และล่าสุด คือ สายพันธุ์แอฟริการใต้ B.1.351 รวมแล้วทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกยกให้เป็นความน่ากังวลระดับโลก เพราะมีผลการวิจัยที่บอกเอาไว้ว่า ไวรัสกลายพันธุ์ทั้ง 4 นี้ สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว รุนแรง และยังสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเราได้อีกด้วย
แม้เชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา แต่เชื้อไวรัสทั้ง 4 ที่น่ากังวลนี้ เป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่สำคัญ เราไปเจาะลึกข้อมูลกันเลย
โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7
โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ เกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่งพิเศษที่อยู่บนผิวของเชื้อไวรัส เรียกว่า โปรตีนหนาม (Spike protein) ทำให้เชื้อไวรัสมีคุณสมบัติใหม่ คือ จับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น เชื้อไวรัสกลายพันธุ์นี้ พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษช่วงเดือนกันยายน 2563 ก่อนที่จะเข้ามาระบาดในไทย ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564

ความน่าเป็นห่วงของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษนี้ คือ สามารถแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น 1.7 เท่า ทั้งยังมีความรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสดั้งเดิม ผู้ป่วยติดเชื้อมีอายุเฉลี่ยน้อยลง และผู้ติดเชื้อยังมีความเสี่ยงที่อาจเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นถึง 30%
ข้อมูลจาก : www.pptvhd36.com
โควิด-19 สายพันธุ์บราซิล P.1
โควิด-19 สายพันธุ์บราซิล เกิดการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งที่สำคัญ คือ ตำแหน่งที่อยู่บนโปรตีนหนาม (Spike Protein) ซึ่งนักวิจัยพบว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลนี้ มีอัตราการแพร่เชื้อได้มากกว่าเดิมสูงถึง 2.2 เท่า และมีความรุนแรงมากขึ้น 10-80%
นอกจากนั้น ในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก่อน ยังสามารถติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลนี้ซ้ำได้ เนื่องมาจากความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน (Antibody) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งก่อนได้อย่างดีเยี่ยม
ข้อมูลจาก : www.pptvhd36.com
โควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย B.1.617
โควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย เป็นการกลายพันธุ์คู่ (Double Mutant) ในตำแหน่งที่อยู่บนโปรตีนหนาม (Spike Protein) เช่นเดียวกัน ทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียแพร่ระบาดได้ไว และติดเชื้อได้ง่ายกว่าโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้กราฟตัวเลขจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตพุ่งสูงได้มากที่สุด พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ช่วงเดือนตุลาคม 2563 ก่อนจะพบรายงานการติดเชื้อในไทย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
โควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย B.1.617 แบ่งออกได้อีก 3 สายพันธุ์ คือ B.1.617.1, B.1.617.2 และ B.1.617.3 ซึ่ง B.1.617.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะมีความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ
ข้อมูลจาก : thestandard.co
โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351
โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างขึ้น หมายความว่า ผู้ที่ติดเชื้อแล้ว แม้จะมีภูมิคุ้มกัน ก็สามารถติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ซ้ำได้อีก ทั้งยังมีแนวโน้มว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ในขณะนี้ อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะยับยั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์นี้ได้อีกด้วย
โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ ช่วงเดือนตุลาคม 2563 และมีรายงานการติดเชื้อในไทย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2546 ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของอัตราการแพร่ระบาด รวมถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ต้องติดตามข้อมูลจากงานวิจัยกันต่อไป
ข้อมูลจาก : thestandard.co
โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน B.1.1.529
ล่าสุด ประเทศแอฟริกาใต้ตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า ‘โอไมครอน’ (Omicron) ซึ่งต่อมา WHO หรือองค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์โควิด-19 ที่น่ากังวล เนื่องจากเชื้อไวรัสโอไมครอนมีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง โดยกว่า 30 ตำแหน่งเป็นส่วนของโปรตีนหนาม จึงอาจทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่นี้ เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังอาจสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง และอาจติดเชื้อซ้ำได้ แม้ในไทยจะยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ในหลายประเทศพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศฮ่องกง
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลามาธิบดี กล่าวว่า ชุดตรวจ PCR บางยี่ห้อ อาจไม่สามารถตรวจเจอเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธ์ุไปหลายตำแหน่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดผลลบปลอม (False Negative) ขึ้นได้
จากการเฝ้าสังเกตล่าสุดเกี่ยวกับความรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนนั้น แพทย์หญิงแองเจลิก้า โคเอตซี ประธานแพทยสภาแอฟริกาใต้ บอกว่า ผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ธรรมดา คือ อาการของผู้ป่วยที่ตรวจพบ ส่วนใหญ่ไม่มีการสูญเสียการรับรสและการดมกลิ่น เพียงแต่มีอาการไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียอยู่ราว 1-2 วัน แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาผลกระทบจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ ระหว่างนี้ แนะนำให้ทุกคนป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างอยู่เสมอ
ข้อมูลจาก : www.bbc.com
สรุป เชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้ง 5 สายพันธุ์
- โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ : เชื้อติดต่อกันได้เร็ว รุนแรงขึ้น ผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น 30%
- โควิด-19 สายพันธุ์บราซิล : เชื้อติดต่อกันได้เร็ว รุนแรง สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้
- โควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย : แพร่ระบาดไว ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ
- โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ : สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ และลดประสิทธิภาพของวัคซีน
- โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน : ติดเชื้อง่ายขึ้น และติดเชื้อซ้ำได้ ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง และอุปกรณ์ PCR บางยี่ห้อ อาจไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้
ป้องกันตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้ง 5 สายพันธุ์
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในตอนนี้ยังน่าเป็นห่วง พร้อมกับที่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นมา แต่การป้องกันตัวตามคำแนะนำเดิมยังคงใช้ได้ คือ

- สวมหน้ากากอนามัยให้มิดชิด ปิดคลุมตั้งแต่จมูกถึงใต้คาง หากหน้ากากอนามัยไม่กระชับ สามารถสวมหน้ากากผ้าทับได้อีก 1 ชั้น อ่านเพิ่มเติม เช็กให้ชัวร์ หน้ากากอนามัยแบบไหน? ป้องกันโควิด-19 ได้จริง
- เว้นระยะห่างจากคนอื่นๆ เมื่อออกไปในที่สาธารณะอย่างน้อย 1-2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางฝูงชน พื้นที่แออัด หรือพื้นที่แบบปิด (ห้องแอร์) และไม่ควรอยู่นานเกิน 15 นาที
- ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ
- ใช้ช้อนกลางตักอาหาร
- ทำความสะอาดบ้านด้วยน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้ออยู่เสมอ
- หากต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน อ่านเพิ่มเติมได้ที่
– ‘หมอพร้อม V.2’ มาแล้ว!! แอด Line เช็กรายละเอียด เตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงทะเบียน
– คำแนะนำ ก่อนฉีด-หลังฉีด วัคซีนโควิด-19 ปฏิบัติตัวอย่างไร?
– รู้ไว้ใช่ว่า…รวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 - ตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง อ่านเพิ่มเติมเปิดข้อมูล ‘ชุดตรวจโควิด-19’ ใช้ยังไง? ซื้อที่ไหน? ตรวจได้แม่นยำจริงรึเปล่า? หรือสั่งซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบ ATK คลิก!
เมื่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จนเข้มแข็งขึ้น เราก็ต้องดูแลตัวเองให้รัดกุมมากกว่าเดิม เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และคนที่เรารักนะคะ ช้อปไอเทมป้องกันโควิด-19 ได้เลยที่ OfficeMate
บทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด-19