ข่าวสะพานถล่มลาดกระบัง ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากมาย ทั้งทางชีวิตและทรัพย์สิน จนหลาย ๆ คนเกิดความกังวลถึงความปลอดภัยเมื่อต้องเดินทาง ในบทความนี้ OfficeMate ได้ทำการสรุปเหตุการณ์การถล่มของสะพานลาดกระบัง สาเหตุ รวมทั้งการป้องกันที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทฯ ผู้รับเหมา ผู้ปฏิบัติงาน และบุคคลภายนอกที่ต้องเดินทางสัญจรผ่านพื้นที่การก่อสร้าง

สรุป Timeline และเหตุการณ์ “สะพานลาดกระบังถล่ม”

  • ช่วงเวลาประมาณ18.00 ของวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เกิดเหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง หน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาลาดกระบัง ยุบตัวและถล่มลงมายังถนนด้านล่าง
  • เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ถล่มลงมาทับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อาคารพาณิชย์ และผู้คน มีผู้บาดเจ็บกว่าสิบราย และผู้เสียชีวิตอีก 2 ราย
  • เวลาประมาณ 21.00 ในวันเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำการเข้าตรวจสอบพื้นที่ นำทีมเร่งดำเนินการกอบกู้ร่างผู้เสียชีวิต และค้นหาผู้สูญหายรายอื่น ๆ ที่คาดว่ายังติดอยู่ใต้ซากสะพานร่าง โดยมีการเคลียร์ซากเหล็กโครงสร้างของสะพาน และมีการปิดการจราจรบางส่วน
  • ในช่วงเช้าของวันที่ 11 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ได้มีการถอนกำลังการค้นหาภายใต้ซากสะพาน และมีการเปิดช่องทางสัญจรให้ผู้คนสามารถเดินทางผ่านได้ โดยมีการอพยพผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สะพานถล่มออก เพื่อความปลอดภัย
  • ทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังที่ถล่มเคยถูกจับตามองตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากการก่อสร้างที่ล่าช้า ซึ่งนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ผู้เป็นส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย ได้ทำการยื่นกระทู้ต่อสภา กทม. ในเเรื่องความคืบหน้าของการก่อสร้างสะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แม้จะมีการเบิกเงินไปแล้ว 9 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท โดยโครงการนี้มีกำหนดการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2567

สะพานข้ามแยกลาดกระบัง_สะพานถล่ม_OfficeMate

ขอบคุณภาพจาก Thai PBS

สาเหตุ “สะพานถล่ม” มาจากอะไร ใครต้องรับผิดชอบ

ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร มีการเปิดเผยถึงสาเหตุของสะพานถล่ม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า เกิดข้อผิดพลาดของ Launcher หรือตัวยึดคานสะพาน เมื่อ Launcher ด้านบนเสียหลัก จากความผิดพลาดของขั้นตอนการดึงลวดร้อยชิ้นส่วนคอนกรีตให้เป็นชิ้นเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการกระแทก และไปดึงเครนสะพาน ทำให้สะพานถล่มลงมา

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ผู้เป็นเจ้าของโครงการ ร่วมกับผู้ออกแบบ คือ สำนักงานวิศวกรรมทาง สำนักการโยธาฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบและหาทางแก้ไขปรับปรุงโครงการก่อสร้างต่อไป ซึ่งทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง หรือ สะพานข้ามแยกลาดกระบัง ได้รับดูแลและควบคุมการก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา บริษัทฯ รับเหมาผู้ชนะการประมูลรับจ้างดำเนินการก่อสร้าง ด้วยการเสนอราคาต่ำสุดผ่านระบบ E-Bidding โดยมีงบประมาณการก่อสร้างตามเอกสารอยู่ที่ 1,664,550,000 บาท

ข่าวสะพานถล่มลาดกระบัง_OfficeMate

ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐ

ภัยใกล้ตัว “สะพานถล่ม” กับแนวทางระวังภัย

สะพานถล่ม แม้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้า แต่ผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนสามารถเฝ้าระวังเพื่อป้องกันตัวเอง หากต้องขับรถลอดใต้การก่อสร้างที่อยู่สูง เช่น สะพาน ทางด่วน รถไฟฟ้า คอยสังเกตจุดเหนือหัวว่ากิจกรรมการก่อสร้างนั้น ๆ สามารถเกิดความผิดพลาดใดได้บ้าง เช่น ชิ้นส่วนร่วงหล่น วัสดุเกิดการล้มตัว ฯลฯ และดูว่าเราอยู่ในระยะที่ปลอดภัยหรือไม่ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการหลบหลีกพื้นที่อันตราย รวมทั้งเมื่อเดินตามท้องถนน ควรเดินด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อผ่านพื้นที่ก่อสร้าง ควรรีบเดินให้พ้นระยะอันตราย และอย่าลืมระวังเครื่องมือหรือชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลงมาจากด้านบน และหากมีเหตุการณ์ถล่มของสิ่งก่อสร้าง ไม่ควรเข้าไปมุงดู ให้รีบอพยพ หรือออกห่างจากพื้นที่การเกิดเหตุให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันอันตรายจากการเกิดเหตุถล่มซ้ำ

สะพานถล่มลาดกระบัง_ความปลอดภัย_OfficeMate

ขอบคุณภาพจาก Thai PBS

ถึงแม้อุบัติเหตุการณ์สะพานถล่มจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่หากเราใช้ชีวิตด้วยความมีสติ เดินทางสัญจรด้วยความไม่ประมาท และคอยเฝ้าระวังความปลอดภัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ก่อสร้างเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุในระดับหนึ่ง และสำหรับบริษัทฯ หรือเจ้าของโครงการผู้รับผิดชอบควรให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบในการดำเนินการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเลือกวัสดุการก่อสร้างที่มีคุณภาพ เลือกเครื่องมือช่าง รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุนความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยปกป้องทั้งทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนให้ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

อ้างอิง: thairath , komchadluek , thaipbs , bbc , thematter , bangkokbiznews