หมวกเซฟตี้ หรือหมวกวิศวะ เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือ PPE (Personal Protective Equipment) ทำหน้าที่สำคัญในการปกป้องความปลอดภัย และสวัสดิภาพของผู้สวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องทำงานเสี่ยงภัย เช่น งานด้านอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง ช่างซ่อมบำรุง ไปจนถึงนักสำรวจต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยงอันตรายและอุบัติเหตุไม่คาดคิดที่อาจเกิดจากการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งหมวกเซฟตี้แต่ละสีก็มีคุณสมบัติและการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้ OfficeMate จะพาไปทำความรู้จักกับสีต่าง ๆ และแนวทางการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

หมวกเซฟตี้สีฟ้า

โดยปกติแล้ว สีของหมวกเซฟตี้ หรือหมวกนิรภัยจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับประเภทของงาน เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจและเป็นที่สังเกตได้ง่าย เหมือนเช่นหมวกนิรภัยสีฟ้า ซึ่งเป็นสีที่เกี่ยวข้องกับน้ำ จึงเหมาะสำหรับการใช้ในงานประปา หรืองานซ่อมบำรุงที่เกี่ยวกับระบบน้ำต่าง ๆ

หมวกเซฟตี้สีฟ้า_OfficeMate

หมวกเซฟตี้สีส้ม

มักพบในพื้นที่การซ่อมบำรุงต่าง ๆ ผู้ที่สวมใส่จะทำหน้าที่ในการควบคุมเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ และอาจส่งผลกระทบหลายส่วนหากเกิดอุบัติเหตุ เช่น เครน ปั้นจั่น ฯลฯ นอกจากการป้องกันอันตราย การสวมใส่หมวกเซฟตี้จะทำให้คนในไซต์งานมองหาผู้ควบคุมได้ง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด เพราะสีหมวกแยกกับคนงานทั่วไปได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น เรายังพบเห็นการใส่หมวกนิรภัยสีส้มนี้ได้ทั่วไปในหน่วยงานจราจร

หมวกเซฟตี้สีน้ำเงิน

หมวกนิรภัย สีน้ำเงิน ถูกใช้กับงานซ่อมบำรุง หรืองานช่างชำนาญการ ประเภทงานไม้ หรืองานไฟฟ้า ตลอดไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคต่าง ๆ และหากใช้ร่วมกับงานไฟฟ้า ควรเลือกใช้หมวกเซฟตี้ที่มีประสิทธิภาพในการลดอันตรายจากการสัมผัสตัวนำกระแสไฟฟ้า และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมาตรฐานรับรองว่าได้ผ่านการทดสอบการต้านทานกระแสไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคนทำงาน

หมวกเซฟตี้สีขาว

หมวกเซฟตี้สีขาว เป็นอุปกรณ์ปกป้องความปลอดภัยของผู้ที่มีส่วนร่วมในพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน แต่ไม่ได้เป็นผู้ทำงานโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการ หัวหน้าคนงาน วิศวกร และสถาปนิก ซึ่งเป็นบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของคนรอบข้าง และยังใช้หมวกสีขาวกับบุคคลภายนอก หรือแขกผู้เข้ามาเยี่ยมชมในไซต์งาน

หมวกเซฟตี้สีขาว_OfficeMate

หมวกเซฟตี้สีเหลือง

หมวกนิรภัยสีที่คนส่วนใหญ่พบเห็นมากที่สุด เพราะเป็นสีของคนทำงานโดยทั่วไปตามโรงงาน และไซต์งานต่าง ๆ ทั้งงานที่ใช้เครื่องจักร งานขุดเจาะ รวมถึงงานก่อสร้าง หากพบเห็นผู้ที่สวมใส่หมวกสีเหลือง เป็นสัญญาณว่าผู้สวมใส่กำลังปฏิบัติงาน และควรสัญจรด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีพื้นที่ขุดเจาะ ไซต์งานก่อสร้างอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้น

หมวกเซฟตี้สีเขียว

สีเขียว เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความปลอดภัย เราจึงพบเห็นได้บ่อยตามโรงพยาบาล หรือสถานที่ปลอดเชื้อ หมวกนิรภัยสีเขียวจึงนำมาใช้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย (จป.) และหน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้คนทั่วไปตามหาได้ง่าย เมื่อเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ นอกจากนี้ หมวกเซฟตี้สีเขียวยังถูกใช้ในงานด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หมวกเซฟตี้สีแดง

ปิดท้ายที่หมวกเซฟตี้สีแดง ซึ่งเป็นสีตรงข้ามกับสีเขียว และเป็นสีที่สื่อความหมายถึงไฟและความร้อนตามหลักสากล งานที่ใช้หมวกนิรภัยสีแดง ซึ่งเป็นสีที่มองเห็นได้ง่ายในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง งานเชื่อม และงานที่ต้องเผชิญกับความร้อน (บางที่ใช้หมวกนิรภัยสีน้ำตาล)

หมวกเซฟตี้สีแดง_OfficeMate

ตรวจสอบความแข็งแรงของหมวกนิรภัย จาก Type และ Class H3

  • TYPE 1 หมวกนิรภัยที่ผ่านการทดสอบแรงกระแทกกลางหมวกส่วนบน
  • TYPE 2 หมวกนิรภัยที่ผ่านการทดสอบแรงกระแทกทั้งกลางหมวกส่วนบนและด้านข้างหมวก
  • CLASS-G หมวกนิรภัยที่มีประสิทธิภาพในการลดอันตรายจากการสัมผัสตัวนำกระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำ (LOW-VOLTAGE ELECTRICAL CONDUCTORS ) และผ่านการทดสอบการต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ 2,200 โวลต์
  • CLASS-E หมวกนิรภัยที่มีประสิทธิภาพในการลดอันตรายจากการสัมผัสตัวนำกระแสไฟฟ้าแรงดันสูง (HIGH-VOLTAGE ELECTRICAL CONDUCTORS) และผ่านการทดสอบการต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ 20,000 โวลต์
  • CLASS-C หมวกนิรภัยที่ไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันอันตรายจากการสัมผัสตัวนำกระแสไฟฟ้า

หมวกเซฟตี้_OfficeMate

หมวกเซฟตี้แต่ละสีเป็นตัวแทนสำหรับรูปแบบงานที่แตกต่างกันออกไป การพิจารณาถึงประเภทงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกหมวกเซฟตี้ไปใช้งาน หากเลือกสีหมวกเซฟตี้ที่เหมาะกับการทำงาน อุปกรณ์เซฟตี้ชิ้นนี้ก็จะเป็นเหมือนเกราะช่วยปกป้องความปลอดภัยให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง: jorportoday, glovetex