หากพูดถึงการทำงานในธุรกิจอุตสาหกรรมหรือโรงงานต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คงจะเป็น อุปกรณ์ที่ช่วยในเรื่องความปลอดภัย เพราะทั้งสถานที่และขั้นตอนการดำเนินล้วนแต่เป็นต้นเหตุสำคัญที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงร้ายแรงถึงชีวิตได้ เพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติงานให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงเหล่านั้น จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ได้คุณภาพ และถุงมือก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากมองเผิน ๆ ถุงมือสำหรับงานอุตสาหกรรมอาจมีรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายคลึงกัน แต่ในความเป็นจริง ถุงมือแต่ละแบบมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของวัสดุ คุณสมบัติการป้องกัน และความเหมาะสมในการใช้งาน ซึ่งในบทความนี้ได้ทำการรวบรวมข้อมูลของถุงมือแต่ละประเภทที่ใช้กันในวงการอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาและเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง

ถุงมือใช้แล้วทิ้ง

ถุงมือใช้แล้วทิ้ง disposable gloves

มักเป็นถุงมือที่ผลิตมาจากยางหรือพลาสติก มีเนื้อบาง ความหนาประมาณ 4-8 มิลลิมเมตร นิยมใช้ชั่วคราวหรือใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง เราสามารถพบเห็นการใช้ถุงมือประเภทนี้ได้ทั่วไป ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเท่านั้น โดยหากใช้งานกับอาหาร จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาเสมอ

ข้อดี: เป็นถุงมือที่มีความบาง สวมใส่สบาย ไม่เกิดความร้อนภายในหรืออบอ้าวมากนักเมื่อเทียบกับถุงมือประเภทอื่น ใช้งานได้ดีกับงานที่ต้องการประสาทสัมผัสจากปลายนิ้ว มีความทนทานพอประมาณ หากเป็นถุงมือยางจะมีความเหนียว ยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อแรงดึง ช่วยลดแรงตึงและอาการเมื่อยล้าขณะสวมใส่

เหมาะสำหรับ: ใช้สำหรับงานที่ต้องการปกป้องมือหรือสิ่งของที่หยิบจับให้ปราศจากสิ่งสกปรกและการปนเปื้อน ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร วงการแพทย์ การค้าขาย ธุรกิจเชิงพาณิชย์ และใช้งานได้ทั่วไปตามครัวเรือน

ข้อควรพิจารณา: หากเทียบกับประเภทอื่น ถุงมือใช้แล้วทิ้งมีความทนทานต่ำที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานกับของมีคม ถุงมือประเภทนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันสารเคมีอันตราย กรด ด่าง และกระแสไฟฟ้า จึงไม่แนะนำให้สวมใส่สำหรับการทำงานเชิงเทคนิคต่าง ๆ และเนื่องจากเป็นถุงมือที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง จึงเป็นหนึ่งในประเภทผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในหมวดวัสดุสิ้นเปลือง อาจส่งผลให้เกิดภาวะขยะล้นโลก และเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว

ถุงมือผ้า

ถุงมือผ้า ถุงมือผ้าถัก cloth gloves fabric cloth

ถุงมือที่ผลิตจากผ้าชนิดต่าง ๆ เช่น ผ้าฝ้าย (คอตตอน) ผ้าไนลอน ฯลฯ นำมาถักทอเข้าด้วยกัน ถุงมือประเภทนี้อาจมีความหนาของผ้าแต่ละชั้นที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการผลิตและวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ในบางรุ่นยังมีการเคลือบสาร PVC หรือ PU เพิ่มความหนาและความทนทาน อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งมีชั้นหนาเท่าไร ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมากขึ้นเท่านั้น

ข้อดี: เนื้อผ้ามีความยืดหยุ่น สวมใส่สบาย กระชับมือ ช่วยป้องกันอันตรายจากสิ่งสกปรก ทำงานได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

เหมาะสำหรับ: งานหยิบจับทั่วไป เช่น งานขนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่มากจนเกินไป งานทำความสะอาดบ้านทั่ว ๆ ไป งานเกษตรหรืองานซ่อมบำรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ

ข้อควรพิจารณา: ไม่ควรใช้กับงานที่เสี่ยงกับการสัมผัสสารเคมี สารพิษอันตราย ความร้อน และของเหลวจำพวกน้ำมัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ถุงมือประเภทนี้กับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้าและของมีคมที่มีแรงตัดหรือแรงเฉือนสูง

ถุงมือหนัง

ถุงมือหนัง leather gloves

ผลิตขึ้นมาจากหนังชนิดต่าง ๆ ทั้งหนังสัตว์ และหนังฟอก ถุงมือประเภทนี้สามารถเรียกอีกอย่างว่า ถุงมือเชื่อม เพราะนิยมนำไปใช้ในงานเชื่อม และงานก่อสร้างประเภทต่าง ๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อประกายไฟได้เป็นอย่างดี ในบางรุ่นจะมีซับใน เพื่อเสริมความทนทานต่อการฉีกขาดและการบาดแทงจากอุปกรณ์ที่มีความแหลมคม

ข้อดี: เป็นวัสดุที่มีเนื้อเหนียว แข็งแรง ขึ้นชื่อในเรื่องของความทนทาน ฉีกขาดยาก ทนทานต่อประกายไฟ และทนความร้อนได้ดีพอสมควร

เหมาะสำหรับ: งานอุตสาหกรรมทั่ว ๆ ไป งานก่อสร้าง งานเชื่อม งานที่มีขั้นตอนที่ก่อให้เกิดประกายไฟ หรือสะเก็ดไฟ งานหยิบยกสิ่งของที่มีส่วนแหลมคม เช่น แก้ว โลหะ เนื่องจากมีความทนทานต่อการฉีกขาดสูง จึงมักใช้สวมทับกับถุงมือประเภทอื่น เช่น ถุงมือกันไฟฟ้า เพื่อเสริมความทนทานและความปลอดภัยอีกชั้น

ข้อควรพิจารณา: ไม่สามารถป้องกันสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ห้ามซักทำความความสะอาดหรือตากแดดถุงมือหนังโดยเด็ดขาด เนื่องจากการซักและอยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานานจะทำให้หนังเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันที่ลดลง

ถุงมือกันบาด

ถุงมือกันบาด cut resistant gloves stainless gloves

เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ที่ได้มาตรฐานชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักผลิตมาจากเส้นใยชนิดพิเศษที่มีความแข็งแรงสูง วัสดุที่เป็นที่นิยมในการผลิตถุงมือประเภทนี้ คือ เส้นใยสเตนเลส โดยจะถูกนำมาถักทอเข้าด้วยกันจนมีลักษณะเหมือนตาข่าย มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกันการบาด แทง เฉือน เจาะทะลุ จากของมีคมต่าง ๆ และยังมีการแบ่งประเภทย่อย ๆ ของถุงมือกันบาดตามระดับการป้องกันจากวัตถุแต่ละชนิด

ข้อดี: แข็งแรง ทนทานสูง ดูแลรักษาและทำความสะอาดง่ายเพียงล้างทำความสะอาด แล้วเป่าให้แห้ง นอกจากนั้น ถุงมือจากสเตนเลสที่ได้คุณภาพยังไม่ก่อให้เกิดสนิม ช่วยให้หยิบจับอาหารได้สะดวกโดยไม่ต้องกังวลเรื่องสารปนเปื้อนตกค้าง

เหมาะสำหรับ: งานที่ต้องใช้เครื่องมือหรือุปกรณ์ที่มีความแหลมคม เช่น อุตสาหกรรมตัดกระดาษ ชำแหละเนื้อสัตว์ ขนย้ายแก้วหรือกระจก การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ

ข้อควรพิจารณา: ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันสารเคมี หรือสารอันตรายต่าง ๆ รวมทั้งวัสดุที่ใช้สามารถเป็นตัวเหนี่ยวนำไฟฟ้าได้ จึงไม่ควรใช้ในงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้าทุกประการ และก่อนการตัดสินใจซื้อ ควรศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพในการป้องกันแต่ละระดับ เพื่อเลือกถุงมือที่ตรงกับรูปแบบการใช้งานมากที่สุด

ถุงมือป้องกันสารเคมี

ถุงมือป้องกันสารเคมี

ถุงมือประเภทนี้จะผลิตขึ้นมาจากยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ โดยส่วนมากจะใช้ยางไนไตร นอกจากจะมีลักษณะเหมือนยางทั่วไปแล้ว ยางไนไตรยังมีคุณสมบัติลดอัตราการแพ้ได้ดีที่สุด ปลอดภัยต่อผู้ที่มีผิวบอบบางหรือผิวแพ้ง่าย โดยไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อมือเหมือนยางชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไม่มีส่วนผสมที่เป็นโปรตีนจากธรรมชาติ

ข้อดี: ถุงมือป้องกันสารเคมีที่มาจากยางจะมีความเหนียว ยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อการใช้งาน ที่สำคัญ ทนต่อสารเคมี และสารอันตรายต่าง ๆ ทั้งกรด ด่าง น้ำมันชนิดต่าง ๆ ฯลฯ

เหมาะสำหรับ: สามารถพบเห็นการใช้ถุงมือป้องกันสารเคมีได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ของอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมยานยนตร์ การซ่อมบำรุง งานพ่นสี บริการทำความสะอาดและพ่นฆ่าเชื้อ การทดลองและงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ ไปจนถึงในวงการแพทย์

ข้อควรพิจารณา: ถุงมือประเภทนี้มีความทนทานต่อสารเคมีแต่ละชนิดในระดับที่แตกต่างกัน และอาจไม่สามารถป้องกันสารเคมีบางชนิดได้ 100% เช่น คลอรีน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาข้อมูลประสิทธิภาพการป้องกันอย่างละเอียดก่อนนำไปใช้งาน

ถุงมือป้องกันไฟฟ้า

ถุงมือป้องกันไฟฟ้า

เป็นประเภทถุงมือที่ถูกผลิตออกมาเพื่อการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง เพราะถุงมือยางทั่วไปอาจไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกระแสไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม ถุงมือป้องกันไฟฟ้ามักถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักตามวัสดุและรูปแบบการทำงาน ได้แก่ ประเภทที่ 1 ถุงมือที่สามารถต้านทานโอโซนได้ (Ozone-resistant) ส่วนใหญ่จะผลิตจากยางธรรมชาติ และประเภทที่ 2 ถุงมือที่ไม่สามารถต้านทานโอโซนได้ มักจะผลิตจากยางสังเคราะห์ เช่น Ethylene Propylene Diene Monomer (EPDM) มีคุณสมบัติเด่น คือ เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี และช่วยป้องกันกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายของผู้สวมใส่ นอกจากนั้น ถุงมือป้องกันไฟฟ้ายังถูกแบ่งประเภทย่อย ๆ ตามระดับการป้องกันออกเป็น Class ได้ดังนี้

  • Class 00 – 500 V/2,500 ป้องกันไฟฟ้าได้ 5000 V ใช้ในงานไฟฟ้าทั่วไป
  • Class 0 – 1,000 V/5,000 ป้องกันไฟฟ้าได้ 1,000 V
  • Class 01 – 7,500 V/10,000 ป้องกันไฟฟ้าได้ 7,500 V
  • Class 02 – 17,000 V/20.000 ป้องกันไฟฟ้าได้ 17,000 V
  • Class 03 – 26,500 V/30,000 ป้องกันไฟฟ้าได้ 26,500 V
  • Class 04 – 36,000 V/40,000  ป้องกันไฟฟ้าได้ 36,000 V

ข้อดี: นอกจากคุณสมบัติด้านการป้องกันไฟฟ้าช็อตหรือไฟฟ้าดูดแล้ว ยังเป็นถุงมือที่มีความเหนียว และยืดหยุ่นสูงจากการผลิตด้วยยางชนิดพิเศษ โดยการแบ่งประเภทการป้องกันกระแสไฟฟ้าเป็น Class ชัดเจน จะช่วยให้ตัดสินใจเลือกซื้อถุงมือให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภทได้ง่ายขึ้น

เหมาะสำหรับ: งานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านทุกรูปแบบ ตั้งแต่การตรวจสอบ ซ่อมบำรุง จนถึงการเปลี่ยนอะไหล่ไฟฟ้าต่าง ๆ

ข้อควรพิจารณา: ถุงมือป้องกันไฟฟ้ามักมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากการผลิตด้วยวัสดุชนิดพิเศษ ยิ่งทนต่อกระแสไฟฟ้าได้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีราคาจำหน่ายที่สูงตามไปด้วย และควรตรวจสอบสภาพถุงมือป้องกันไฟฟ้าเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนการใช้งานทุกครั้ง เพราะหากสวมใส่ถุงมือที่ขาดหรืออยู่ในสภาพชำรุดแม้เพียงเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ แนะนำให้สวมถุงมือหนังทับอีกชั้นเพื่อป้องกันการฉีกขาดของถุงมือ และยังช่วยปกป้องความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน

การสวมใส่ถุงมือและอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยต่าง ๆ มักเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้าม เพราะหลายคนคิดว่าเป็นการเสียเวลาในการปฏิบัติงาน และเพิ่มความยุ่งยากให้กับการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่หารู้ไม่ว่า การเสียสละเวลาและความสบายเพียงเล็กน้อยเป็นวิธีการที่ช่วยรักษาชีวิตของใครหลายคนมานักต่อนัก ในปัจจุบัน จึงมีการออกกฎหมายและข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยในการทำงานต่าง ๆ ให้ทั้งองค์กรและพนักงานได้นำไปปฏิบัติ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งในกฎข้อบังคับเหล่านั้น เพราะเป็นวิธีพื้นฐานที่เปรียบเสมือนปราการด่านแรกคอยปกป้องความปลอดภัยของคนทำงาน ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว

 

https://www.ofm.co.th/category/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2/%E0%B8%96%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD

 

ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล

  • www.glovetex.com
  • www.lyreco.com
  • www.thailandindustry.com