ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โรคระบาดแพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ การหาอุปกรณ์การป้องกันเชื้อโรคที่ได้คุณภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะบุคคลในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคตลอดเวลาจากการเสียสละตนเองเพื่อปกป้องสุขอนามัยและความปลอดภัยของคนส่วนใหญ่ในสังคม และหากจะพูดถึงอุปกรณ์ป้องกันเชื้อร้ายที่ครอบคลุมร่างกายได้ดีที่สุด ชุด PPE หรือ Personal Protective Equipment คงติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง เพราะเป็นชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคลที่บุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องทำการสวมใส่ในขณะที่ปฎิบัติงาน แต่การเลือกชุด PPE ที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม อาจทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกไม่สบายตัว หรือไม่ส่งเสริมการทำงานที่คล่องตัว และอาจส่งผลไปถึงความเสี่ยงติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นจากการป้องกันที่ไม่รัดกุมมากเพียงพอ

ในบทความนี้ เราจึงได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกชุด PPE โดยแบ่งตามประเภทของวัสดุ เป็นตัวช่วยตัดสินใจให้ทุกท่านเลือกชุด PPE ให้เหมาะสมกับงานและสภาพแวดล้อม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถป้องกันตัวเองและผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด โดยวัสดุที่ถูกนำมาตัดเย็บเป็นชุด PPE นั้นมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของผิวสัมผัสและประสิทธิภาพการป้องกัน โดยวัสดุที่นิยมใช้กับชุด PPE มีหลากประเภท ขึ้นอยู่กับการใช้งาน

Spunbond Polypropylene (PPSB)

วัสดุ: สปันบอนด์ โพลีโพรพิลีน

เป็นวัสดุที่มีราคาค่อนข้างถูก เนื้อผ้ามีน้ำหนักเบา สวมใส่สบาย ช่วยระบายอากาศและความอับชื้นได้อย่างดีเยี่ยม มีหลายสีสันให้เลือกใช้งาน แต่มีข้อเสียคือเป็นวัสดุที่ไม่กันน้ำ สามารถใช้ป้องกันได้แค่ละอองของเหลวหรือกันฝุ่นทั่วไป ไม่สามารถป้องกันสารพิษอันตรายได้ จึงไม่นิยมนำไปผลิตชุดกันสารเคมีหรือชุดป้องกันเชื้อโรค

Spunbond Meltblown Spunbond (SMS)

วัสดุ: ผ้าสปันบอนด์โพลีโพรพิลีน + Meltbown โพลีโพรพิลีน + ผ้าสปันบอนด์โพลีโพรพิลีน

เนื้อผ้าประเภทนี้มีความแข็งแรง ฉีกขาดยาก ทนทานต่อการใช้งานสูง แต่ยังมีน้ำหนักเบา ทำให้สวมใส่สบาย และยังช่วยในเรื่องของการระบายอากาศได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก Meltbown โพลีโพรพิลีน เป็นเส้นใยที่มีขนาดเล็กและมีความละเอียด สามารถป้องกันของละอองเหลวและอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก เราจึงพบเห็นการใช้เส้นใยชนิดนี้ในอุตสาหกรรมการผลิตหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ชั้นนอกของชุด PPE ที่ผลิตจากวัสดุ SMS ยังมีพื้นผิวที่ไม่เรียบ ซึ่งอาจเป็นที่สะสมเชื้อโรคที่มาจากของเหลว เช่น สารคัดหลั่ง หรือเลือด ได้ง่าย ชุด PPE ประเภทนี้จึงไม่เหมาะกับการใช้งานในห้องปลอดเชื้อ หรืองานที่ต้องอยู่ในสภพแวดล้อมที่เสี่ยงกับการติดเชื้อเป็นระยะเวลานาน

Polyethylene Coated Polypropylene (PPSB + PE coating)

วัสดุ: โพลีโพรพิลีน เคลือบผิวด้วย PE (Polyethylene)

เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เนื้อผ้าเคลือบด้วย PE มีความแข็งแรงมาก ทนทานต่อการดึง กระชาก การฉีกขาด หรือแม้แต่การเจาะทะลุ พื้นผิวชั้นนอกมีสัมผัสเรียบ จึงไม่ก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นและการกระเซ็นจากของเหลวหรือสารคัดหลั่งได้อย่างดีเยี่ยม แต่เนื่องจากวัสดุประเภทนี้มีชั้นเคลือบที่หนา จึงมีอัตราการระบายอากาศได้ต่ำกว่าผ้าชนิดอื่น และยังไม่สามารถป้องกันสารพิษอันตรายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

SFS (PPSB + Microporous PE Film)

วัสดุ: Spunbond polypropylene เคลือบด้วย PE film แบบพิเศษ

SFS เป็นวัสดุที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ มีพื้นฐานมาจากสปันบอนด์ที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน ทนต่อการฉีกขาดและการเจาะทะลุที่เป็นมาตรฐานทั่วไป เคลือบทับด้วยฟิล์ม PE เนื้อผ้าไมโครพอรัส ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีรูพรุนขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80-120 นาโนเมตร กระจายอยู่ทั่ว มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องการระบายอากาศ รวมถึงระบายไอน้ำที่เกิดจากความร้อนภายใน ช่วยให้สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด ในขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากของเหลวอย่างสารคัดหลั่งและเลือดได้เป็นอย่างดี

Tyvek (HDPE)

วัสดุ: เส้นใย high-density spunbound polyethylene (HDPE)

วัสดุประเภทสุดท้ายที่จะนำเสนอ คือ ผ้า Tyvek ซึ่งมาจาก HDPE หรือเส้นใยที่มีการทอแบบแน่นหนา ผิวสัมผัสและคุณสมบัติคล้ายกระดาษกึ่งพลาสติก มีความเหนียว ทนทานต่อการฉีกขาด กันน้ำได้ในระดับหนึ่ง และยังทนต่อเชื้อรา จึงเป็นเป็นที่นิยมในการนำมามาผลิตเป็นถุงช้อปปิ้ง นอกจากนั้น คุณสมบัติการกันน้ำและสารเคมี จึงทำให้สามารถเช็ดทำความสะอาด หรือพ่นฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยได้อีกด้วย ในปัจจุบัน Tyvek เป็นวัสดุที่กำลังมาแรงในวงการแพทย์ โดยมีเกรดให้เลือกใช้งานหลากหลาย หากเลือกเกรดที่มีคุณภาพสูง จะสามารถป้องกันสารเคมีอันตรายได้เป็นอย่างดี ใช้ได้ตั้งแต่การป้องกันเชื้อโรคทางการแพทย์ ไปจนถึงการใช้งานในพื้นที่ทดลองทางนิวเคลียร์

วัสดุทั้ง 5 ประเภท จัดว่าเป็นที่นิยมในการนำมาผลิตเป็นชุด PPE ที่เราพบเห็นกันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ ซึ่งการสวมใส่ชุด PPE ของบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานนั้นเป็นไปตามหลักมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) โดยมีมาตรการในการทดสอบที่เรียกว่า “EN 14126” ประกอบด้วย 5 มาตรฐานย่อย อันได้แก่

  • มาตรฐาน ISO 16603: การตรวจสอบความต้านทานแรงดันของเลือดเทียม
  • มาตรฐาน ISO 16604: การตรวจสอบความต้านทานแรงดันของเลือดเทียมที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส
  • มาตรฐาน ISO 22610: การตรวจสอบความต้านทานของเหลวที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย
  • มาตรฐาน ISO 22611: การตรวจสอบการป้องกันละอองของของเหลวที่ปนเปื้อนแบคทีเรียในอากาศ
  • มาตรฐาน ISO 22612: การตรวจสอบความต้านทานอนุภาคปนเปื้อน

ดังนั้น หากเลือกชุด PPE ที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบระดับสากล และตรงกับวัตถุประสงค์ของการทำงาน จะมีส่วนช่วยในการปกป้องร่างกายของผู้สวมใส่ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • https://thai-safetywiki.com
  • https://ultitec-protection.com
  • https://business.medtecs.com
  • https://papermore.co
  • https://glovetex.com