
แบงค์ปลอม เป็นปัญหามานานแสนนาน แม้จะมีการกวาดล้างจับกุมขบวนการผลิตแบงค์ปลอมหลายต่อหลายครั้ง แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีข่าวพบแบงค์ปลอมระบาดให้เห็นอยู่เป็นระยะ
แบงค์ปลอมมีให้เห็นอยู่หลายเลเวล ตั้งแต่แบงค์กาโม่ แบงค์ปลอมแบบถ่ายเอกสารสี ไปจนถึงแบงค์ปลอมที่ผลิตกันเป็นขบวนการ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายธนบัตรของจริงจนแทบแยกไม่ออก
รูปแบบการใช้แบงค์ปลอมของมิจฉาชีพ
แบงค์ปลอมมีการระบาดเป็นระลอก และมีให้เห็นหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เพื่อเปลี่ยนเอาธนบัตรจริงกลับไป ผู้เสียหายมักเป็นร้านค้า พ่อค้า แม่ค้า รวมถึงลูกค้าที่ได้รับเงินทอนเป็นแบงค์ปลอมไปโดยไม่รู้ตัว ไปดูกันดีกว่าค่ะว่ามิจฉาชีพมักนำแบงค์ปลอมมาใช้ในรูปแบบไหนกันบ้าง
- ร้านค้า หรือธุรกิจ ที่เป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าปลีกในต่างจังหวัด ปั๊มน้ำมัน แท็กซี่ ผับบาร์ ตลาดโต้รุ่ง หรือพื้นที่ค้าขายที่มีความรีบเร่ง และมีแสงสว่างน้อย
- มิจฉาชีพมักนำแบงค์ปลอมไปใช้กับร้านค้าปลีก โดยการใช้แบงค์ปลอมใบใหญ่ 500 บาท หรือ 1,000 บาท ซื้อสิ่งของที่มูลค่าไม่มาก เพื่อรับเงินทอนที่เป็นธนบัตรจริง
- ช่วงที่มิจฉาชีพมักนำแบงค์ปลอมออกมาใช้ คือ ช่วงวันหยุด หรือช่วงเทศกาล ที่มีการจับจ่ายใช้สอยกันมาก เพราะแม่ค้าพ่อค้ามักจะสาละวนกับการขายของ จนไม่ทันได้สังเกต
- มิจฉาชีพบางรายนำแบงค์ปลอมใบใหญ่มาขอแลกเป็นแบงค์ย่อย ซึ่งการแลกเงินก็จะทำให้มิจฉาชีพได้รับธนบัตรจริงกลับไป
- บางครั้งมิจฉาชีพใช้วิธีฝากแบงค์ปลอมเข้าธนาคารด้วยเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ (ADM) แล้วทำการถอนเงินออกจากบัญชีด้วยตู้เอทีเอ็มซึ่งเป็นธนบัตรจริง
บทลงโทษของการ ‘ผลิต’ ‘ใช้’ และ ‘ครอบครอง’ แบงค์ปลอม
การผลิต การใช้ และการครอบครองแบงค์ปลอม มีบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ดังนี้
- บทลงโทษสำหรับผู้ปลอมแปลงธนบัตร : ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ระบุว่า มีโทษจำคุก 10 – 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ ตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท
- บทลงโทษสำหรับผู้มีแบงค์ปลอมในครอบครองและนำออกมาใช้จ่าย ‘โดยตั้งใจ’ : ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ระบุว่า มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 – 15 ปี และปรับ ตั้งแต่ 20,000 – 300,000 บาท
- บทลงโทษสำหรับผู้มีแบงค์ปลอมโดยไม่ตั้งใจ แต่กลับนำออกมาใช้จ่ายหลังจากตรวจสอบแล้วว่าเป็นแบงค์ปลอม : ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245 ระบุว่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- บทลงโทษสำหรับผู้ผลิตเครื่องมือปลอมแปลงธนบัตร : จำคุก ตั้งแต่ 5 – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท

ในเมื่อการมีแบงค์ปลอมในครอบครองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แล้วถ้าเราบังเอิญได้รับมาหรือมีแบงค์ปลอมอยู่ในครอบครอง ควรทำยังไงดี?
เผลอรับ หรือ มีแบงค์ปลอมอยู่ในครอบครอง ‘โดยไม่รู้ตัว’ ทำยังไงดี?
บทลงโทษทางกฎหมายนั้น มีไว้สำหรับผู้ใช้แบงค์ปลอม ‘โดยตั้งใจ’ เรียกง่ายๆ ว่า นำแบงค์ปลอมไปใช้ ทั้งๆ ที่รู้ว่านั่นคือแบงค์ปลอม แต่สำหรับพ่อค้า แม่ค้า เจ้าของกิจการ ห้างร้าน หรือลูกค้าที่เป็นเหยื่อ ได้รับแบงค์ปลอมมาโดยไม่รู้ตัว ธนาคารแห่งปะเทศไทย (ธปท.) แนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้
- เมื่อรู้ตัวว่าได้รับแบงค์ปลอม หรือตรวจสอบแล้วว่ามีแบงค์ปลอมอยู่ในครอบครอง ห้ามนำออกไปใช้จ่ายอีกโดยเด็ดขาด
- ใช้ปากกาเขียนคำว่า ‘ปลอม’ เพื่อแยกออกจากธนบัตรจริง
- นำไปให้ธนาคารพาณิชย์ส่งเข้าระบบ ขึ้นบัญชีเป็น ‘ธนบัตรปลอม’
- หากมีผู้นำแบงค์ปลอมมาใช้ ควรสอบถามรายละเอียด ว่าได้มาจากใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่อสืบสาวราวเรื่องไปยังตัวการ หรือจดจำรูปพรรณ การแต่งกาย ลักษณะพิเศษของผู้ใช้แบงค์ปลอมให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการแจ้งความ สืบสวน และจับกุม ทั้งยังเป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ให้ตัวเองอีกด้วย
- เมื่อรู้ตัวว่าได้รับแบงค์ปลอม หรือมาตรวจสอบภายหลังว่ามีแบงค์ปลอมอยู่ในครอบครอง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแจ้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย
- หากไม่แน่ใจ หรือมีข้อสงสัยว่าตัวเองอาจได้รับแบงค์ปลอม สามารถสอบถามข้อมูลหรือติดต่อแบงค์ชาติ โทร. 1213
หลีกเลี่ยงแบงค์ปลอมยังไงดี?
- สังเกตด้วยตาเปล่า

แม้จะมีเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีช่วยผลิตแบงค์ปลอมให้ดูเหมือนธนบัตรจริงแค่ไหน แต่ถึงอย่างไร ธนบัตรจริงจะมีลักษณะพิเศษ เช่น ลายน้ำ ตัวเลข เส้นใยต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเราสามารถสังเกต และแยกแบงค์ปลอมออกได้ด้วยตาเปล่า เพียงแต่ต้องอาศัยเทคนิคเล็กน้อย ใครอยากได้วิธีการสังเกตแบงค์ปลอมด้วยตัวเองแบบละเอียด อ่านต่อได้ที่บทความนี้เลย ‘วิธีเอาตัวรอดเมื่อแบงค์ปลอมระบาด ตรวจยังไงไม่ให้พลาดตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ!!!’
- ใช้เครื่องตรวจธนบัตร

การสังเกตด้วยตาเปล่า เป็นวิธีการตรวจสอบแบงค์ปลอมแบบเบื้องต้น แต่สำหรับคนทำธุรกิจที่มีเงินสดผ่านมือ หรือมีเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมาก ถ้าจะใช้การสังเกตคงเสียเวลาอยู่ไม่น้อย เราแนะนำให้ใช้เครื่องมือสำหรับตรวจสอบแบงค์ปลอมโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า ‘เครื่องตรวจธนบัตร’ เพื่อทุ่นเวลา และสามารถตรวจสอบได้แม่นยำกว่า
เครื่องตรวจธนบัตรปลอม ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่
- เครื่องตรวจธนบัตรด้วย แสง UV
เป็นการตรวจคุณสมบัติบนผิวธนบัตร ด้วยแสง UV ที่มีความสว่างสูง เช่น เนื้อกระดาษ คุณภาพกระดาษ ลายเส้น การสะท้อนแสง ฯลฯ ซึ่งสามารถตรวจธนบัตรได้พร้อมกันหลายฉบับ และมีความแม่นยำสูง
- เครื่องตรวจแม่เหล็กในธนบัตร (MG)
ใช้ในการตรวจหาแม่เหล็กในธนบัตร เพราะหากเป็นธนบัตรปลอม จะไม่มีแม่เหล็กผสมอยู่ จึงถือว่าเครื่องตรวจธนบัตรแบบจับแม่เหล็กนี้มีความแม่นยำพอสมควร ทั้งยังตรวจได้รวดเร็ว ด้วยเซนเซอร์ตรวจจับแม่เหล็กขนาดใหญ่ ที่ตรวจได้ทุกสกุลเงิน
- เครื่องตรวจลายน้ำบนธนบัตร (WM)
เครื่องตรวจธนบัตรแบบสุดท้าย ใช้ตรวจหาลายน้ำโดยเฉพาะ ทั้งยังสามารถตรวจสอบรูปสัญลักษณ์ และตัวเลขแจ้งชนิดราคาที่ซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ได้
สำหรับเครื่องตรวจธนบัตรบางเครื่อง สามารถตรวจได้ทั้ง 3 แบบ (3 in 1) ไม่ว่าจะ UV, MG หรือลายน้ำ ซึ่งเหมาะกับคนทำธุรกิจที่ในแต่ะวันมีธนบัตรผ่านมือจำนวนมาก แต่สำหรับคนทั่วไป หรือพ่อค้าแม่ค้ารายเล็ก อาจใช้เครื่องตรวจธนบัตรขนาดเล็กที่มีระบบปฏิบัติการ 1 ระบบ หรือใช้เครื่องตรวจธนบัตรแบบพกพา เลือกจากยี่ห้อที่มีมาตรฐาน ก็สามารถตรวจจับแบงค์ปลอมได้แม่นยำเช่นกันค่ะ

และถ้าคุณกำลังตามหาเครื่องตรวจธนบัตรคุณภาพดี ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนไกล ออฟฟิศเมทของเรามีเครื่องตรวจธนบัตรจากหลายแบรนด์คุณภาพ มีมาตรฐาน และไว้ใจได้ พร้อมให้คุณช้อปได้แล้ววันนี้ ที่ OfficeMate
ขอบคุณข้อมูลจาก
ป้องกันตัวอย่างไรจากธนบัตรปลอม
https://brandinside.asia/fake-banknote/
https://money.kapook.com/view208949.html