ใครที่รู้ตัวว่าเป็นไมเกรน คงรู้ดีว่าอาการปวดหัวไมเกรนนี้ทรมาน และกระทบกับหน้าที่การงาน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันพอสมควร แต่สำหรับใครที่มีอาการปวดหัวเป็นครั้งคราว บางครั้งปวดมาก บางครั้งปวดน้อย บางครั้งก็ปวดหัวข้างเดียว แล้วสงสัยว่าอาการปวดหัวแบบนี้ของเรานั้นเรียกว่าไมเกรนรึเปล่า? ปวดหัวไมเกรนเป็นแบบไหน? แล้วต้องปวดมากแค่ไหนถึงควรรีบไปพบแพทย์? วันนี้ OfficeMate จะพาไปเจาะลึกอาการปวดหัวไมเกรนกัน 

ปวดหัวไมเกรน เป็นแบบไหน?

ปวดหัวไมเกรน (Migraine Headache) มักจะเกิดอาการปวดที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็มีบางครั้งที่เกิดปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง โดยมีลักษณะการปวดตุบๆ เป็นจังหวะ และจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการปวดหัวไมเกรน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะก่อนมีอาการ, ระยะอาการเตือน, ระยะปวดศีรษะ และระยะหลังปวดศีรษะ

ระยะก่อนมีอาการปวดหัวไมเกรน (Prodrome)

ระยะก่อนมีอาการปวดหัวไมเกรน มักเกิดขึ้นในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนปวดหัวไมเกรน มักมีอาการอยากอาหาร อารมณ์แปรปรวน หาวบ่อย บวมน้ำ ปัสสาวะบ่อย และอาจมีอาการปวดตึงบริเวณต้นคอ

ระยะอาการเตือน (Aura)

ระยะอาการเตือน หรือเรียกว่าออร่า มักเกิดขึ้นในช่วง 20-40 นาทีก่อนปวดหัวไมเกรน สาเหตุมาจากการวิ่งไปมาแบบช้าๆ ของคลื่นสมอง ซึ่งทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ ระยะอาการเตือนจะมาในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • Visual Aura เป็นอาการทางสายตา ผู้ป่วยไมเกรนบางคนจะเห็นเป็นแสงระยิบระยับ แสงสีขาวเป็นเส้นซิกแซก แสงแฟลช หรือแสงสว่างจ้า ตามมาด้วยอาการเห็นภาพมืด  
  • Sensory Aura อาการมือและแขนชา ลามไปถึงบริเวณรอบๆ ปาก
  • Hemiplegic Migraine อาการอ่อนแรงครึ่งซีก
  • Migraine with Brainstem Aura อาการเวียนหัว หูดับ หูแว่ว ตาเข หรืออาจหมดสติ

อาการเตือนเหล่านี้พบได้ในร้อยละ 30 ของผู้ป่วยไมเกรน ซึ่งอีกราวๆ ร้อยละ 70 อาจเกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้โดยไม่มีอาการเตือนนำมาก่อน

ปวดหัวไมเกรน

ระยะปวดหัวไมเกรน (Headache)

ระยะปวดหัวไมเกรน เรียกว่าเป็นระยะไคลแม็กซ์ มักเกิดขึ้นนาน 4-24 ชั่วโมง อาการ คือ ปวดหัวเป็นจังหวะตุบๆ หรือปวดหัวข้างเดียว และจะทวีความปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลายคนปวดมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานได้ตามปกติ บางคนจะมีอาการแพ้แสง แพ้เสียงดัง คลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย 

ระยะหลังปวดหัวไมเกรน (Postdrome) 

ระยะหลังปวดไมเกรน ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย วิงเวียน เกิดอาการสับสน ในบางคนยังอาจมีอาการแพ้แสง หรือแพ้เสียงดังๆ หลงเหลืออยู่ ซึ่งอาจมีอาการเหล่านี้นานต่อเนื่องเป็นวันๆ หลังจากหายปวดหัวไมเกรน 

ปวดหัวไมเกรน สาเหตุมาจากอะไร?

ปวดหัวไมเกรนมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ความผิดปกตินี้จะทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในสมองหดและคลายตัวมากกว่าปกติ จึงเกิดเป็นอาการปวดตุบๆ ที่ศีรษะ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบขึ้นได้ เช่น 

  • แสงไฟ และแสงแดดจ้า หรือแสงไฟกระพริบ
  • อากาศร้อนจัด
  • โรคออฟฟิศซินโดรม 
  • อาหารบางอย่าง เช่น ชีส แอลกอฮอล์ ผงชูรส คาเฟอีน อาหารแปรรูป (ไส้กรอก แฮม เบคอน)
  • ความเครียด 
  • อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดต่ำลง เรียกว่าเป็นอาการปวดหัวไมเกรนตอนเป็นประจำเดือน หรือปวดหัวไมเกรนช่วงหลังคลอดบุตร 

วินิจฉัยตัวเองเบื้องต้น เราปวดหัวไมเกรนรึเปล่า?

ใครที่มีอาการปวดหัวบ่อยๆ บางครั้งรู้สึกเหมือนปวดหัวข้างเดียว แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการปวดหัวไมเกรนหรือไม่ ให้ลองวินิจฉัยตัวเองในเบื้องต้นจากเกณฑ์ที่สมาคมปวดศีรษะนานาชาติ (The International Headache Society : IHS) กำหนดขึ้น คือ 

  • ปวดหัวต่อเนื่องนาน 4 ชั่วโมง – 3 วัน
  • ปวดหัวข้างเดียว, ปวดหัวเป็นจังหวะตุบๆ, ปวดหัวรุนแรงจนทำงานไม่ไหว
  • มีอาการปวดหัว ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพ้แสง หรือแพ้เสียงดัง

หากมีอาการเหล่านี้ 2 ใน 3 ข้อ ให้สงสัยและประเมินตัวเองไว้ก่อนได้เลยว่า เราอาจมีอาการปวดหัวไมเกรน

วิธีรักษาอาการปวดหัวไมเกรน

อาการปวดหัวไมเกรนยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน 

  • ยาสำหรับอาการปวดหัวไมเกรนแบบไม่รุนแรง : Paracetamol (พาราเซตามอล)
  • ยาสำหรับอาการปวดหัวไมเกรนรุนแรง : กลุ่มยาแก้ปวด NSAIDs เช่น Ibuprofen, Naproxen, Celecoxib หรือ Etoricoxib
  • ยาสำหรับรักษาอาการปวดหัวไมเกรนโดยเฉพาะ : ยากลุ่ม Triptans เช่น Sumatriptan หรือ Eletriptan
ปวดหัวไมเกรน

อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการปวดหัวไมเกรนโดยใช้ยาควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อน ไม่ควรสั่งยามาทานด้วยตัวเองนะคะ

นอกจากบรรเทาอาการด้วยยาแล้ว ผู้ที่รู้ตัวว่ามีอาการปวดหัวไมเกรนควรหลีกเลี่ยงจากสิ่งเร้าหรือปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ เช่น แสงจ้า เสียงดัง ความเครียด และอาหารบางอย่าง รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ระบบต่างๆ และสารเคมีในร่างกายทำงานได้ปกติ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักมากเกินไป เพราะสำหรับบางคน การออกกำลังกายหนักๆ อาจไปกระตุ้นให้ปวดหัวไมเกรนได้ 

หากเริ่มมีอาการปวดหัวไมเกรน ให้นอนพัก 10-20 นาที ในห้องมืดๆ เงียบสงบ และอากาศเย็น แต่ถ้าพักแล้วไม่ดีขึ้น หรือทานยาแล้วอาการยังไม่ทุเลา ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ หรือวินิจฉัยโรคอื่นๆ เพิ่มเติม    

การออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นยาช่วยรักษาและบรรเทาอาการได้หลายอย่าง OfficeMate ชวนทุกคนมาเริ่มต้นออกกำลังกาย ด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกายคุณภาพดี ได้มาตรฐาน พร้อมทริคการออกกำลังกายด้วยตัวเองให้ได้ผล และไม่บาดเจ็บ ยุคนี้ การดูแลตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นเรื่องสำคัญ มาช้อปอุปกรณ์ออกกำลังกาย ไปออกกำลังกายที่บ้านกันได้เลยที่ OfficeMate 

ขอบคุณข้อมูลจาก
praram9
bumrungrad