
เครื่องสำรองไฟ หรือ UPS (Uninterruptible Power Supply) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น มีบทบาทสำคัญทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ในครัวเรือน เพราะเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้อง เช่น ไฟดับ ไฟตก ไฟกระชาก อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อโดยไม่มีใครรู้ เครื่องสำรองไฟจึงควรมีติดไว้ในทุกองค์กรหรือสถานที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงานตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านั้น
ทำความรู้จักกับเครื่องสำรองไฟ มีกี่ประเภท
Standard UPS หรือ UPS ออฟไลน์
อุปกรณ์ UPS ที่ทำงานโดยการรับพลังงานจากระบบไฟฟ้าภายในบ้านโดยตรง ทำงานด้วยระบบแปลงพลังงานไฟฟ้าให้เป็นกระแสสลับ และเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดับ เครื่องสำรองไฟนี้จะส่งไฟฟ้าไปยังอินเวอร์เตอร์ เพื่อแปลงกระแสไฟฟ้ากลับเป็นกระแสสลับที่ใช้ในบ้าน โดยอุปกรณ์ใดที่เชื่อมต่อกับ UPS ประเภทนี้จะสามารถทำงานได้ปกติในกรณีไฟฟ้าดับเท่านั้น ไม่เหมาะกับการใช้แก้ปัญหาความผันผวนของกระแสไฟฟ้าแบบอื่น หรือใช้ในพื้นที่ใกล้เคียงกับแหล่งผลิตไฟฟ้า ข้อดี คือ มีราคาถูกกว่าแบบอื่น ๆ และยังติดตั้งง่าย
Line interactive UPS
เป็นอุปกรณ์ UPS ที่มีลักษณะคล้ายกับ UPS แบบออฟไลน์ สิ่งที่แตกต่างกัน นั่นคือ มีระบบที่ช่วยปรับแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติเพิ่มเข้ามา เพื่อให้กระแสไฟฟ้าคงที่เมื่อกระแสไฟเกิดความผันผวน ส่งผลให้ไม่เกิดการกระชากของไฟเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟตก และหากกระแสไฟฟ้าเกิดการผันผวนในระดับที่ไม่มากนัก UPS ชนิดนี้จะไม่เสียพลังงาน ทำให้ยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น ในขณะที่ราคาก็ไม่สูงมาก จึงเป็นที่นิยมใช้กันค่อนข้างมาก
True online UPS
UPS ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพการใช้งานสูงกว่าประเภทอื่น ๆ โดยทำงานแบบ 2 ฟังก์ชัน ทั้งทำหน้าที่เป็นเครื่องประจุและเครื่องแปลงไฟฟ้าในตัวเดียว เครื่องสำรองไฟประเภทนี้ถูกออกแบบมาให้สำหรับใช้งานได้ตลอดเวลา และสามารถป้องกันเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องได้ทุกกรณี จึงมักใช้กับเครื่องมือแพทย์ หรือเครื่องมือที่ต้องการความเสถียรสูง ไม่ว่าจะเกิดไฟตกหรือไฟดับ UPS ประเภท True online นี้ก็สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลือกเครื่องสำรองไฟอย่างไร ให้ปลอดภัย ใช้งานได้นาน
การเลือกเครื่องสำรองไฟ หรือ UPS ไปใช้งาน มีปัจจัยหลายประการที่ต้องคำนึงถึง เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
อุปกรณ์ที่ต้องเชื่อมต่อ UPS
เป็นปัจจัยแรก ๆ ที่ต้องพิจารณา เพราะ UPS แต่ละประเภทสามารถรองรับการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าได้แตกต่างกัน หากเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญ มีขนาดใหญ่ หรือใช้กำลังไฟมาก เช่น เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์เครื่องจักรในโรงงาน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ฯลฯ ควรเลือกใช้ True online UPS หากอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นมีขนาดเล็ก หรือไม่จำเป็นต้องใช้ไฟมาก อย่างเช่นที่ใช้ในบ้าน หรือออฟฟิศขนาดไม่ใหญ่มาก อาจเลือกเป็น Line interactive UPS ก็เพียงพอ
ขนาดกำลังไฟฟ้า (VA) ของอุปกรณ์เชื่อมต่อ UPS
ผู้ใช้ควรมีการคำนวณขนาดกำลังไฟฟ้ารวมของอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อกับเครื่องสำรองไฟก่อนทำการซื้อ โดยขนาดกำลังไฟฟ้ารวมของอุปกรณ์ไม่ควรสูงกว่า 80% ของกำลังไฟฟ้าในเครื่อง UPS หรืออีกนัยหนึ่ง คือ UPS ควรมีขนาดที่ใหญ่กว่ากำลังไฟรวมของอุปกรณ์ เพื่อสำรองไว้ในกรณีใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง (Overload)
วิธีการคำนวณขนาด UPS ให้เหมาะกับอุปกรณ์ไฟฟ้า
- คำนวณอัตราการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่ต้องการต่อพ่วงกับ UPS 1 ดูได้จาก หน่วยเป็น วัตต์ หรือ VA ที่แสดงท้ายเครื่องผ่านป้ายแสดงค่าพิกัดกำลัง (Nameplate)
- นำค่า VA ไปคูณค่า Volt และ Amps
- หากป้ายของอุปกรณ์แสดงพลังงานไฟฟ้าในหน่วยวัตต์ ให้แปลงเป็นค่า VA โดยนำค่าวัตต์ไปคูณ 1.4
- รวมค่า VA หรือ Watt ของอุปกรณ์ทั้งหมด แล้วนำค่านั้นไปหาร 0.8 เพื่อเลือก UPS ที่เหมาะสม
ตัวอย่าง: หากค่า VA ของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่ต้องต่อพ่วงเครื่อง UPS = 240 ให้นำ 240/0.8 = 300 จึงควรเลือกซื้อ UPS ที่มีกำลังไฟมากกว่า 300 วัตต์ขึ้นไป
คุณภาพของกระแสไฟฟ้า
ที่ตั้งของสถานที่ที่จะใช้เครื่อง UPS นั้นเป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อ หากเป็นสถานที่ที่มีความผันผวนของกระแสไฟฟ้าค่อนข้างมาก ไฟฟ้าไม่เสถียร เช่น เขตชายแดน หรือเขตไฟฟ้าแรงสูง ควรเลือกใช้ UPS ประสิทธิภาพสูงอย่าง True online เพราะหากใช้ Standard UPS หรือ Line interactive UPS ที่ไม่สามารถควบคุมการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่ อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องสำรองไฟได้
ระยะเวลาในการใช้เครื่องสำรองไฟ
ผู้ใช้ควรพิจารณาระยะเวลาของสถานการณ์ไฟฟ้าขัดข้องที่ต้องเผชิญในแต่ละครั้ง หากพบว่าส่วนใหญ่มักต้องการใช้ไฟฟ้าสำรองจาก UPS เป็นเวลานาน ควรเลือกเครื่องสำรองไฟในรุ่นที่มาพร้อมแบตเตอรี่ชนิด High-Rate เนื่องจาก UPS แบบนี้จะสามารถสำรองไฟและจ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้นานกว่าปกติถึง 20 % โดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการสำรองไฟยังขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ UPS ด้วย
มาตรฐานสากล การันตีความปลอดภัย
เพราะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้านั้นแตกต่างกับข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป หากผลิตขึ้นมาจากส่วนประกอบที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดการชำรุดเสียหายขณะใช้งาน และนำไปสู่อันตรายต่อผู้ใช้งานและผู้อยู่อาศัยในสถานที่นั้น ๆ ได้ การเลือกสินค้าที่ได้คุณภาพ ผ่านมาตรฐานระดับสากล และภายในประเทศ จะเป็นการช่วยการันตีถึงความปลอดภัยในการใช้งานได้อีกทาง
ตัวอย่างมาตรฐานที่เครื่องสำรองไฟ (UPS) ควรได้รับ
- General and safety ตามมาตรฐาน EN/IEC 62040-1
- Electromagnetic Compatibility ตามมาตรฐาน EN/IEC 62040-2
- UPS Classification ตามมาตรฐาน EN/IEC 62040-3
- มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
- มาตรฐานอื่น ๆ ดังนี้ CE, CB, Reach, RoHS และ WEEE ฯลฯ
การบริการหลังการขาย และเงื่อนไขการรับประกัน
ปัจจัยสุดท้ายที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม เริ่มตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ผู้ผลิต ดูได้จาก Customer review หรือ Feedback จากลูกค้าท่านอื่น ๆ รวมไปถึงการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของลูกค้าตามสิทธิผู้บริโภค เมื่ออุปกรณ์เกิดปัญหาใด ๆ ทางฝั่งผู้บริโภคก็ควรศึกษาเงื่อนไขการรับประกันอย่างละเอียด โดยส่วนใหญ่แล้ว เครื่อง UPS ตามท้องตลาดจะมีระยะเวลาการรับประกันเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ปี สิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคยังคงได้รับการคุ้มครองและดูแลจากผู้ผลิตแม้ทำการซื้อขายเสร็จสิ้น
UPS หรือเครื่องสำรองไฟ เป็นอุปกรณ์ที่หลายคนไม่ให้ความสำคัญมากนัก แต่กลับเป็นเครื่องมือที่หลาย ๆ องค์กรกลับขาดไม่ได้ เพราะเพียงแค่เหตุการณ์ฉุกเฉินเพียงเล็กน้อย อาจกลายเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ดังนั้น การเลือก UPS ที่ได้มาตรฐาน เหมาะสมกับอุปกรณ์และพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างทันท่วงที
บทความที่เกี่ยวข้อง
- 4 เหตุผลที่ร้านอาหารควรมี ‘เครื่องสำรองไฟ’ (UPS) ไว้ติดร้าน
- มี UPS (เครื่องสำรองไฟ) ติดไว้ ไฟฟ้าขัดข้องแค่ไหนไม่มีหวั่น!
- 5 ประโยชน์ โซล่าเซลล์ ไม่ใช่แค่ประหยัดไฟ
อ้างอิง: thaiware , bqbestquality , msu