ใคร ๆ ก็สามารถขึ้นเป็น “หัวหน้า” ได้ หากมีความสามารถมากเพียงพอ แต่การเป็น “หัวหน้าที่ดี” ไม่ใช่แค่มีความสามารถในการบริหาร มีประสบการณ์ และความชำนาญในงานที่ทำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสามารถในการสร้างความไว้วางใจ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้องในทีม ซึ่งจะส่งผลต่อผลงานของทีมและบรรยากาศในองค์กรเป็นอย่างมาก

ในบทความนี้ OfficeMate จะขอแชร์เทคนิคการเป็นหัวหน้าที่ดีด้วยการพิชิตใจลูกน้องที่ได้ผล เพื่อสร้างทีมเวิร์คให้แข็งแกร่ง นำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเป้าหมายที่ประสบความสำเร็จ

หัวหน้าทีม_OfficeMate

ตัวอย่างที่ดี เริ่มต้นด้วยการลงมือทำ

การเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องเชื่อใจ อาจไม่ใช่การเป็นผู้นำที่เอาแต่สั่งการ แต่ต้องลงมือทำให้คนในทีมเห็นเป็นตัวอย่าง แสดงให้ลูกน้องเห็นถึงเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจน เพราะหากผู้นำไม่เป็นผู้ริเริ่มที่จะลงมือทำ คนในทีมก็อาจไม่กล้าที่เริ่มทำสิ่งนั้นเช่นกัน และถึงแม้จะไม่ได้ลงไปช่วยทำงานอย่างเต็มตัว แต่หัวหน้าควรแสดงออกให้ลูกน้องเห็นถึงความมุ่งมั่นต่อการทำงานใด ๆ ก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ของบริษัทฯ ที่ส่งผลต่อเงินเดือน และสวัสดิการอื่น ๆ ของตัวพนักงานเอง เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ลูกน้องมีไฟในการทำงานมากยิ่งขึ้น

เลือกใช้คนให้ตรงกับงาน

“Put the right man on the right job” หรือ เลือกคนให้เหมาะสมกับงาน ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่หัวหน้า หรือผู้บริหารควรยึดถือ ในการเลือกพนักงานให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง คนเป็นหัวหน้าต้องรู้จักสังเกตลูกน้องแต่ละคนว่าเขาถนัดสิ่งใด หรือทำงานแบบไหนได้ดี อาจลองหาเวลาพูดคุยถึงความสามารถ และความต้องการเติบโตในสายงานอาชีพ กำหนดบทบาท และหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายของตัวพนักงาน และเป้าหมายขององค์กรมากที่สุด

ที่สำคัญ หากมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา ควรผลักดันให้ลูกน้องในทีมได้เข้าไปลองทำ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ตัวพนักงานได้เรียนรู้ทักษะที่หลากหลาย และได้เพิ่มประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น

หัวหน้าที่ดี_พิชิตใจลูกน้องได้อย่างไร_OfficeMate

พูดคุยและสร้างความสามัคคีในทีม

การแชร์ความรู้สึกต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลว เป็นการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในทีม หรืออีกแง่คือการสร้างทีมเวิร์คที่ดี เพราะคนในทีมจะรู้สึกถึงการล่มหัวจมท้าย ผ่านทั้งดี และร้ายมาด้วยกัน หากมีลูกน้องที่มีความรู้สึกแปลกแยก หัวหน้าอาจต้องหาโอกาสพูดคุยแบบตัวต่อตัว จะช่วยให้พนักงานกล้าพูดเปิดใจ ยิ่งถ้าเป็นการพูดคุยแบบเห็นหน้า หรือ vdo call ก็จะทำให้หัวหน้ารับรู้ความรู้สึกของลูกน้องได้อย่างชัดเจนผ่านสีหน้าท่าทาง การแสดงออก และอย่าลืมแสดงออกถึงความจริงใจ ด้วยการตั้งใจรับฟัง ใส่ใจถึงปัญหา ให้คำปรึกษา แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้เป็นลูกน้องได้มากทีเดียว

สร้างบรรยากาศภายในทีม

อีกวิธีหนึ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรปฏิบัติ และมักได้ผลดีเลยทีเดียว นั่นคือ การสร้างบรรยากาศเฮฮาสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไปในระหว่างวัน หรือในวงประชุม สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายจากการทำงานอันตึงเครียด อาจมีกิจกรรมร่วมกันหลังเลิกงาน เช่น ออกกำลังกาย ปาร์ตี้สังสรรค์ นัดทานข้าวกันสัปดาห์ละครั้ง ยิ่งมีการฉลองความสำเร็จในการทำงานของทีม กล่าวชื่นชมคนในทีมที่ทำผลงานได้ดี ก็เหมือนเป็นการสร้างบรรยากาศในแง่บวก ให้พนักงานคนนั้นรู้สึกได้รับการยอมรับ รวมถึงยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้พนักงานคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ทีมเวิร์ค_OfficeMate

ยอมรับข้อผิดพลาด

ทุกคนที่ผ่านประสบการณ์การทำงานล้วนต้องเคยพบเจอกับความผิดพลาด แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นหัวหน้าก็ตาม ดังนั้น การยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าอายแต่อย่างใด แต่กลับเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง เมื่อทำผิดพลาด ให้กล้ายอมรับ และหาทางออกร่วมกัน ตรงกันข้าม หากหัวหน้าไม่กล้าที่จะยอมรับข้อบกพร่อง มีอีโก้สูง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมามากมาย ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ และประสิทธิผลของงาน จนนำไปสู่ความล้มเหลวของทีมในที่สุด

อย่าหาคนผิด

เช่นเดียวกับการยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง เมื่อทีมทำงานผิดพลาด ผู้ที่เป็นหัวหน้าควรแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ด้วยการรับความผิดนั้นไว้กับตัวเอง ไม่ควรโยนความผิดให้ลูกน้อง หากต้องการหาต้นเหตุในความผิดพลาดนั้น ๆ ควรมีจุดประสงค์เพื่อนำไปสู่หนทางแก้ปัญหา เพราะทุกความผิดพลาดสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของทีม ไม่ควรมีใครคนใดคนหนึ่งต้องโดนโยนความผิด โดนลงโทษ หรือโดน “เชือดไก่ให้ลิงดู” การกระทำแบบนั้นจะยิ่งเป็นการสร้างความรู้สึกในแง่ลบของลูกน้องที่มีต่อตัวหัวหน้าเอง

ทำงานเป็นทีม_OfficeMate

การเป็นหัวหน้าที่ดี และพิชิตใจลูกน้องไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อสามารถสร้างความเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ทีม ทำให้เกิดผลกระทบในแง่บวกต่อผลงาน และความสำเร็จของทีม ในท้ายที่สุดแล้ว ทั้งตัวหัวหน้า และลูกน้องจะได้พัฒนาทักษะที่หาเรียนที่ไหนไม่ได้อย่าง Soft Skill ที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน และสามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนขยายวงกว้างไปยังหลาย ๆ ทีมในองค์กร 

สุดท้ายแล้ว การทำงานในบริษัทฯ นั้นไม่ใช่เกมการแข่งขันที่ต้องการหาพนักงานบริษัทผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียว แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจ นำพาองค์กรให้อยู่รอด และประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

อ้างอิง: jobsdb และ creative talk