หนึ่งในขั้นตอนการสมัครงานนั้นจะต้องผ่านด่านการสัมภาษณ์ แน่นอนว่าเกือบร้อยทั้งร้อยของผู้สมัครงานอย่างเรา ๆ ต้องมีแอบหวั่นกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะถือเป็นขั้นตอนการตัดสินชะตาชีวิตเลย ว่าจะได้งานหรือไม่ได้งาน ต่อให้ประสบการณ์ทำงานปังปั๊วะก็สามารถตกม้าตายในรอบสัมภาษณ์ได้ หากไม่มีการเตรียมตัวที่ดีพอ บทความนี้ OfficeMate จะมาแชร์เทคนิคการสัมภาษณ์งาน เอาไว้ให้คนที่กำลังหางานหรือคิดจะเปลี่ยนงานได้นำไปเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปสัมภาษณ์งาน

  1. บุคลิกภาพดียิ้มแย้มแจ่มใส

การไปสัมภาษณ์งานสิ่งแรกที่เราจะต้องคำนึงเลยก็คือเรื่องของบุคลิกภาพหรือภาพลักษณ์ภายนอกของเรา เราควรเตรียมตัวเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมให้มืออาชีพ มีความสุภาพ และเหมาะสมกับตำแหน่งงาน เลือกสวมเสื้อผ้าที่เรามีความมั่นใจมากที่สุด แต่ยังคงความเป็นทางการเพื่อสร้างความประทับใจแรก นอกจากนั้นควรแสดงความเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส จะช่วยสร้างบรรยากาศการสัมภาษณ์ไม่ให้อึดอัดเป็นกันเอง

ทริคการสัมภาษณ์งาน-OfficeMate
  1. ฝึกแนะนำตัวเองให้น่าสนใจ

แน่นอนว่าคำถามแรกในการสัมภาษณ์งานก็คือการแนะนำตัว ซึ่งการแนะนำตัวสัมภาษณ์งานนั้นคนถามเขาไม่ได้อยากจะรู้ว่าเราชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ เรียนจบอะไรมา หรือมีประสบการณ์ทำงานอะไรมาแล้วบ้าง เพราะข้อมูลเหล่านี้มีระบุอยู่ในเรซูเม่หรือใบสมัครหมดแล้ว เขาถามเพื่อจะดูดวิธีการนำเสนอของเรา การพูดการจาว่าเป็นอย่างไร เราจะต้องขายตัวเองให้เป็น สร้างความโดดเด่นจนเป็นที่ประทับใจให้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องอาศัยการฝึกฝน เพื่อให้พูดแนะนำตัวเองได้อย่างคล่องแคล่วและดึงจุดเด่นหรือความเป็นตัวเองออกมาชนะใจคนสัมภาษณ์

  1. เตรียมพร้อมภาษาอังกฤษ

นอกจากจะเตรียมความพร้อมฝึกแนะนำตัวเป็นภาษาไทยแล้วควรฝึกฝนแนะนำตัวภาษาอังกฤษสัมภาษณ์งานไว้ด้วย เพราะบางครั้งคนสัมภาษณ์อาจปุบปับให้เราพูดภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้ไม่ประหม่า ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทในไทยจะสัมภาษณ์ภาษาไทยเป็นหลักอยู่แล้ว เวลาเขาขอให้พูดภาษาอังกฤษก็จะเป็นการทักทายเบื้องต้น หากเตรียมตัวไปยังไงก็ไม่ตายไมค์แน่นอน อีกทั้งการพูดภาษาอังกฤษพอสื่อสารได้นั้นจะเป็นการเพิ่มคุณค่า และโชว์สกิลให้กับเรามากขึ้น

เตรียมสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษ-OfficeMate
  1. บอกเล่าสิ่งที่ทำสำเร็จหรือได้เรียนรู้จากการทำงาน/เรียน

ในช่วงของการสัมภาษณ์งานจะมีคำถามถึงประสบการณ์ทำงาน วิธีตอบคำถามนี้ให้ดีไม่ใช่แค่บอกว่าเคยทำงานที่ไหน ทำตำแหน่งอะไร นานแค่ไหน แต่เราควรบอกมากกว่านั้นว่าตำแหน่งของเรานั้นมีความสำคัญอะไรกับบริษัท แล้วหน้าที่ของเรานั้นนำความสำเร็จอะไรให้กับบริษัท เช่น สร้างยอดขายได้ เพิ่มยอดเอนเกจ หรืออะไรก็ตามที่แสดงให้เห็นว่าเราได้ทำมันจริง ๆ และมีผลสำเร็จของงานเป็นรูปธรรม ในทางกลับกันเราอาจจะเล่าถึงข้อผิดพลาดก็ได้ แต่ควรบอกด้วยว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้นคืออะไร รับมือแก้ปัญหาอย่างไร และได้บทเรียนอะไรจากการผิดพลาดในครั้งนั้น

แต่สำหรับน้อง ๆ จบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานอาจจะใช้ประสบการณ์การเรียน หรือกิจกรรมระหว่างเรียนว่าได้หล่อหลอมทักษะอะไรให้กับเราบ้าง เรารับมือกับปัญหาอย่างไร

  1. แสดงให้เห็นถึงความสนใจในตำแหน่งงาน

นอกจากจะบอกเล่าประสบการณ์ทำงานแล้วควรแสดงออกถึงความสนใจในตำแหน่งงานที่สมัครด้วย แสดงให้คนสัมภาษณ์เห็นว่าทำไมเขาต้องเลือกเรา เราเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างไร แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเต็มที่ ว่าเราอยากทำอะไร จะเติบโตไปอย่างไรในตำแหน่งนี้ หากสามารถศึกษาลักษณะงาน และมองเห็นถึงปัญหามาก่อนยิ่งดี เราสามารถพูดได้ว่าเราจะมาช่วยพัฒนางาน และแก้ปัญหานั้นอย่างไร อย่าลืมที่จะเชื่อมโยงว่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของเราจะนำมาประยุกต์ และต่อยอดเป็นประโยชน์กับงานตำแหน่งที่สมัครได้อย่างไร

ส่วนในกรณีที่เราเปลี่ยนสายงานไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในตำแหน่งงานนั้น ๆ มาก่อน ให้บอกเล่าความมุ่งมั่นของเราออกมาแสดงว่าทำไมเราถึงอยากทำงานที่นี่ในตำแหน่งนี้ แม้จะไม่มีประสบการณ์ตรงแต่เรามีทักษะอะไรที่เกี่ยวข้องและสามารถนำมาเป็นประโยชน์กับงานได้ แล้วเราพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง 

การสัมภาษณ์งานนั้นไม่ได้มีรูปแบบคำถามหรือลักษณะการสัมภาษณ์ที่ตายตัว สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเตรียมตัวให้พร้อม เข้าใจตัวเองว่าเราเป็นใครมีดีอะไร เข้าใจตำแหน่งงานว่าเขากำลังมองหาอะไร จากนั้นก็พกความมั่นใจไปแสดงให้เขาเห็นว่าคุณเหมาะกับตำแหน่งนี้แค่ไหน ตอบด้วยความจริงใจ งานที่อยากได้นั้นก็คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง: jobsdb และ business plus