5 เครื่องหมายมาตรฐานโรงงานที่ควรรู้!
- เครื่องหมาย มอก.
- เครื่องหมาย GMP
- เครื่องหมาย HACCP
- เครื่องหมาย มาตรฐานอาหารฮาลาล
- เครื่องหมาย มาตรฐาน Q
- เครื่องหมาย ISO
- เครื่องหมาย มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
- เครื่องหมาย มาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์
หากพูดถึงมาตรฐานโรงงานหลาย ๆ คนคงจะนึกถึงพวกการรับรองต่าง ๆ ที่คุ้นหูกันอย่าง GMP, ISO หรือ HACCP โดยตัวย่อเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงว่าโรงงานนั้น ๆ ผ่านมาตรฐานรับรอง แต่เคยสงสัยกันไหมว่าตัวย่อหรือมาตรฐานต่าง ๆ เหล่านี้มันมีความหมายอย่างไร บทความนี้ OfficeMate จะพาทุกคนไปไขข้อข้องใจและหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
มาตรฐานโรงงานคืออะไร
โรงงานอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และเพื่อให้สินค้าเหล่านั้นมีความปลอดภัยมากที่สุดก่อนจะส่งถึงมือผู้บริโภคจึงต้องมีหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการผลิตสินค้ามากมาย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการรับรองมาตรฐานโรงงานตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้วางกฏหมายโรงงานไว้ เป็นการการันตีว่าสินค้าที่ผลิตออกจากโรงงานนั้นปลอดภัยและได้มาตรฐานทุกชิ้น ผู้ประกอบการคนไหนที่อยากจะสร้างโรงงานผลิตสินค้าของตัวเองควรจะต้องศึกษามาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับโรงงานเอาไว้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ
เครื่องหมายมาตรฐานโรงงานที่ควรรู้ มีอะไรบ้าง
1. เครื่องหมาย มอก.
ขอบคุณภาพจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
มอก. หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นข้อกำหนดทางวิชาการที่ี่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตสินค้ามีคุณภาพในระดับที่เหมาะสมกับการใช้งาน ครอบคลุมตั้งแต่คุณภาพของวัตถุที่นำมาผลิต คุณสมบัติที่สำคัญ เทคนิคและกรรมวิธี วิธีการทดสอบ และประสิทธิภาพของการนำไปใช้ ปัจจุบันมีสินค้าที่กำหนดมาตรฐานมอก.กว่า 2,000 รายการ ครอบคลุมหลากหลายประเภทสินค้า เช่น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ใครที่จะเปิดโรงงานเองหรือจะเปิดโรงานให้เช่าก็ศึกษาดูว่าสินค้าที่จะผลิตนั้นต้องผ่านมาตรฐาน มอก. หรือไม่ จะได้วางแผนยื่นขอมาตรฐานก่อนผลิตให้ถูกต้อง
2. เครื่องหมาย GMP
ขอบคุณภาพจาก revomed
gmp คือ หลักการในการผลิตอาหาร ย่อมาจากคำว่า Good Manufacturing Practice เป็นกฎเกณฑ์ที่ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจึงจะได้รับรองมาตรฐาน GMP จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าอาหารนั้นปลอดภัย ซึ่งมาตรฐาน GMP เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยมาตรฐาน GMP นั้นจะกำหนดครอบคลุมตั้งแต่สถานที่ผลิต เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ กระบวนการผลิต ความสะอาด สุขอนามัย และสุขาภิบาล เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าอาหารนั้นมีความปลอดภัย
3. เครื่องหมาย HACCP
ขอบคุณภาพจาก chi
haccp คือ มาตรฐานโรงงานที่ออกมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันอันตรายจากการผลิตเป็นหลัก ย่อมาจาก Hazard Analysis and Critical Control Point มีการกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์อันตรายในระหว่างผลิต มีการกำหนดค่าวิกฤตและการควบคุม เพื่อลดการปนเปื้อนของสินค้าจากขั้นตอนการผลิต สินค้าที่ผ่านมาตรฐาน HACCP จะมีความสากล น่าเชื่อถือได้รับการยอมรับทั่วโลก
4. เครื่องหมาย มาตรฐานอาหารฮาลาล
ขอบคุณภาพจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
มาตรฐานอาหารฮาลาลหรือเครื่องหมายฮาลาลเป็นมาตรฐานสินค้าที่แสดงว่าชาวมุสลิมสามารถบริโภค และใช้ประโยชน์จากสินค้านั้น ๆ ได้ มีลักษณะเป็นสากลได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยมาตรฐานฮาลาลจะกำหนดมาตรฐานตั้งแต่สถานที่ผลิต วัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต และแปรสภาพว่าต้องไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา เพื่อให้ชาวมุสลิมสามารถบริโภคสินค้านั้น ๆ ได้อย่างมั่นใจ
5. เครื่องหมาย มาตรฐาน Q
ขอบคุณภาพจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
เป็นมาตรฐานรับรองสินค้าเกษตร เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย สามารถบริโภคได้อย่างสบายใจไร้กังวล ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับเกษตรและธรรมชาติหากได้รับสัญลักษณ์นี้จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้ามากขึ้น
6. เครื่องหมาย ISO
ขอบคุณภาพจาก theoneiso
ISO ย่อมาจาก International Organization for Standardization เป็นมาตรฐาน เพื่อรับรองระบบการบริหารและการดำเนินงานของอุตสาหกรรม มีความเป็นสากลเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งมาตรฐาน ISO นี้ก็มีมาตรฐานย่อยอีกหลายประเภท เช่น ISO 9000 เป็นมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 14000 มาตรฐานการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 18000 มาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นต้น
7. เครื่องหมาย มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
ขอบคุณภาพจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. เป็นข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมากำหนดกฎเกณฑ์คุณลักษณะของสินค้าชุมชนที่ผลิตกันแบบวิสาหกิจชุมชน SME หรือผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น เพื่อบ่งบอกมาตรฐานของสินค้าว่าได้มาตรฐานทั้งวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิต
8. เครื่องหมาย มาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์
ขอบคุณภาพจาก greennet
เป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยกรมวิชาการเกษตรรับรองให้กับโรงงานที่ผลิตสินค้าและอาหารแบบอินทรีย์หรือออร์แกนิก ปราศจากการใช้สารเคมีปรุงแต่ง เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าออร์แกนิกควรยื่นขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าปลอดภัย ปราศจากสารเคมี 100%
การจะเปิดโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าออกจำหน่ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่แค่มีเงินทุนและกำลังการผลิตเพียงอย่างเดียว หากแต่เรายังต้องใส่ใจกับคุณภาพและความปลอดภัยด้วยการยื่นขอรับรองมาตรฐานเพื่อการันตีว่าโรงงานที่ผลิตสินค้าของเรานั้นผ่านมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่และอุปกรณ์โรงงานที่ได้มาตรฐาน วัตถุดิบได้มาตรฐาน กรรมวิธีการผลิตได้มาตรฐาน เพื่อความน่าเชื่อถือของโรงงานและแบรนด์ของคุณ แต่ถ้าหากต้องการสินค้าเกี่ยวกับโรงงาน สามารถหาเพิ่มเติมได้เลยที่นี่
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ส่อง สถิติอุบัติเหตุในโรงงาน ที่พบบ่อยที่สุด พร้อมแนวทางป้องกัน
- แนะนำ 5 เครื่องสำรองไฟในโรงงาน จ่ายไฟไหลลื่นไม่ขาดช่วง
- ส่อง 5 อุปกรณ์ช่วยยกของหนัก ขาดไม่ได้ในโรงงาน และคลังสินค้า
อ้างอิง: สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม