
อุบัติเหตุจากการพลัดตกจากที่สูง เป็นอีกหนึ่งอุบัติเหตุที่มีปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ความเสี่ยงเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวเราในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ปฏิบัติงานบนที่สูง อย่างงานก่อสร้างบนนั่งร้าน งานบนเสาไฟฟ้า งานเช็ดกระจกบนตึงสูง เป็นต้น ซึ่งการทำงานบนที่สูงอาจหมายถึง การทำงานบนพื้นต่างระดับจากพื้นราบ หรือการทำงานบนพื้นที่มีความต่างระดับของพื้นที่บริเวณใต้ดิน ประมาณ 2 เมตรขึ้นไป
อันตรายที่พบบ่อยที่สุดจากอุบัติเหตุของการทำงานบนที่สูง คือการพลัดตกจากที่สูงซึ่งอาจมาจากหลากหลายปัจจัย สามารถเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ หรือกลายเป็นผู้พิการ และบาดเจ็บ ดังนั้น ผู้ที่ทำงานบนที่สูงควรรู้ถึงหลักการทำงานอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น
กฎหมายเพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง
การทำงานบนที่สูง คืออะไร?

การทำงานบนที่สูงตามกฎกระทรวงปี 2564 คือการทำงานในพื้นที่ที่สูงจากพื้นดินหรือพื้นอาคารตั้งแต่ 2 เมตร ขึ้นไป, การทำงานบนนั่งร้าน หรือโครงสร้างชั่วคราวที่สูงจากพื้นดิน รวมถึงการทำงานบนอาคารสูง
หากมีการปฏิบัติงานบนที่สูง จะต้องฏิบัติตามข้อบังคับเพื่อความปลอดภัย ดังนี้
1.นายจ้างต้องจัดให้มีการอบรมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานบนที่สูง อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการใช้งานอุปกรณ์เซฟตี้ให้ลูกจ้างรับทราบก่อนปฏิบัติงาน และดูแลให้ลูกจ้างทำตามอย่างเคร่งครัด
2. นายจ้างต้องปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันอันตราย หากไม่มีคู่มือดังกล่าว ต้องดำเนินการให้วิศวะกรที่มีใบอนุญาตจัดทำขึ้น และการประกอบ ติดตั้ง ตรวจตรา และการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ต้องมีสำเนาเอกสารเอาไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้
3. นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ที่มีมาตรฐาน เช่น เข็มขัดนิรภัย เชือกนิรภัย หมวกนิรภัย ถุงมือ ฯลฯ
4. นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันอันตราย และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
5. หากต้องทำงานบนที่สูงเกิน 4 เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดทำราวกั้น รั้วกันตก ตาข่ายนิรภัย หรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสมกับพื้นที่ทำงานนั้นๆ และต้องให้ลูกจ้างสวมเข็มขัดนิรภัยหรือเชือกนิรภัยตลอดการทำงาน
6. การทำงานบนที่สูงเกิน 2 เมตรขึ้นไป จะต้องมีการป้องกันการตกหล่น และมีการติดตั้งนั่งร้าน
7. ช่องเปิดหรือปล่องต่างๆ ต้องมีฝาปิด หรือรั้วกั้นความสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
8. ทำงานบนที่ลาดชันเกิน 15 องศา ต้องมีการติดตั้งนั่งร้าน
9. อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้บนที่สูง ต้องมีการผูกยึด ไม่ให้ตกลงมาด้านล่าง
10. การใช้บันไดแบบเคลื่อนย้ายได้ มุมบันไดที่อยู่ตรงข้ามกับผนังที่พิง จะต้องวางทำมุม 75 องศา
11. การใช้รถเครน ต้องมีแผ่นเหล็กรองขาช้าง เพื่อป้องกันการวางไม่ได้ระนาบหรืออ่อนตัว ซึ่งคนขับรถเครนและผู้ให้สัญญาณต้องผ่านการอบรม และรถเครนต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเข้าใช้งานในเขตหวงห้ามทุกครั้ง
นอกจากหลักความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูงแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการทำงานบนที่สูง ทั้งขั้นตอนก่อนเริ่มทำงาน ขั้นตอนการปันขึ้นที่สูง และกฎในการทำงานบนที่สูง มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
กฎพื้นฐานก่อนทำงานบนที่สูง

- ผู้ปฏิบัติงานต้องเป็นผู้ได้รับมอบหมายและมีคุณสมบัติในการทงานบนที่สูง
- สวมใส่เครื่องแต่งกายให้รัดกุมและเรียบร้อย
- เลือกจุดยึดที่แข็งแรงสามารถรองรับแรงกระเมื่อเกิดการตกได้
- สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลขณะทำงานเสมอ ได้แก่ ถุงมือที่ปราศจากน้ำมัน รองเท้านิรภัย เข็มขัดนิรภัยชนิดเต็มตัว (Full body harness) และสายช่วยชีวิต (Lanyard, SRL) เป็นต้น
- เตรียมแผนการช่วยเหลือ และอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น Tripod และ Winch เป็นต้น
กฎการขึ้นที่สูง
- การขึ้นหรือลงบันไดแนวตั้ง ให้ขึ้นลงทีละคน
- บันไดจะต้องถูกจับยึดให้แน่นและมั่นคง
- ขณะขึ้นหรือลงบันได ให้จับขอบบันไดด้วยมือ 2 ข้าง และก้าวขึ้นลงด้วยความเร็วปกติ
- ห้ามถือเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดๆ ขณะปีนขึ้นลงบันได หากมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้งาน ให้พกพาโดยการใส่ไว้ในกระเป๋าที่ติดกับเข็มขัดเท่านั้น
หลักการใช้บันไดพาดอย่างปลอดภัย
ในงานหลายๆ งานจำเป็นต้องใช้บันไดพาด ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องรู้หลักในการใช้บันไดพาดให้ปลอดภัย เนื่องจากขั้นตอนการปีนขึ้นที่สูง ก็สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
- การเลือกประเภทของบันได ต้องเป็นบันไดที่รองรับน้ำหนักผู้ปฏิบัติงานและงานได้ มีความยาวพอเหมาะ หากทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า วัสดุที่ใช้ทำบันไดต้องเป็นฉนวนไฟฟ้า
- ตรวจสภาพก่อนใช้งาน โดยตัวบันไดต้องไม่ชำรุด
- บันไดที่มีความยาวไม่เกิน 5 เมตรสามารถยกเคลื่อนย้ายด้วยคนคนเดียวได้ โดยใช้วิธีพาดกับไหล่แนวนอน ปลายด้านหน้ายาว 2 เมตร ส่วนแขนอีกข้างคอยพยุงควบคุมทิศทาง
- การปีนบันได ต้องใช้บันไดที่แข็งแรง วางบันไดบนฐานที่มั่นคง ไม่ลื่น และวางให้ทำมุมประมาณ 75 องศา
- การทำงานบนบันได้ งานที่ทำจะต้องห่างจากบันไดขั้นบนไม่เกิน 1 เมตร หากทำงานในที่สูงตามเกณฑ์ต้องใส่เข็มขัดนิรภัย
- ห้ามดัดแปลงนำบันไดไปใช้งานอย่างอื่น เช่น พาดทำเป็นทางเดินระหว่างตึก และห้ามนั่งทำงานบนบันได
กฎการทำงานบนที่สูง

- ห้ามทำงานบนที่สูงเพียงลำพังคนเดียว
- ห้ามเคลื่อนไหวตัวรวดเร็ว เมื่อทำงานสูงกว่าพื้นดินเกิน 2 เมตร
- ห้ามโยนสิ่งของหรือเครื่องมือให้แก่ผู้อยู่บนที่สูง
- ห้ามทิ้งสิ่งของหรือเครื่องมือลงสู่เบื้องล่าง
- การตัด การเชื่อมบนที่สูง ให้ตรวจสอบและเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิง และสารไวไฟทุกชนิดในพื้นที่เบื้องล่างก่อน รวมถึงขณะตัดหรือเชื่อม ให้ทำด้วยความระมัดระวัง
- ผู้ควบคุมงานต้องดูแลไม่ให้ใครเดินผ่านเบื้อล่างจุดทำงาน
- ระวังขอยกหรือ Hanger ชน เมื่อจำเป็นต้องทำงานในเส้นทางของขอยก
- ขณะยืนบนหลังคากระเบื้อง ห้ามเหยียบที่แผ่นกระเบื้องโดยตรง
กฎต่างๆ รวมถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเหล่านี้จะไม่เกิดประสิทธิภาพ หากผู้ปฏิบัติงานและผู้ร่วมงานไม่นำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติทุกครั้งที่ต้องมีการทำงานบนที่สูงนะคะ
หากสนใจอุปกรณ์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการพลักตกจากการทำงานบนที่สูง อย่างเข็มขัดนิรภัย เชือกโรยตัว เชือกกันตก หรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลอื่นๆ สามารถเข้ามาเลือกซื้อได้แล้วที่เว็บไซต์ OfficeMate ช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการจัดส่งฟรี*ถึงที่อีกด้วยนะคะ