ใกล้เข้าสู่ช่วง ยื่นภาษี ประจำปี 2566 สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายรับมากกว่า 120,000 บาท/ปี หรือรายได้จากแหล่งอื่นตั้งแต่ 60,000 บาท/ปี จำเป็นต้องยื่นหลักฐานภาษีให้กับทางกรมสรรพากร โดยมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายขึ้นอยู่กับรายรับของแต่ละคน หรืออาจไม่ต้องจ่ายภาษี หากเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้วเหลือไม่เกิน 150,000 บาท/ปี การวางแผนลดหย่อนภาษี จึงเป็นเรื่องชวนเรียนรู้ที่หลายคนมักจะจัดการกัน ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า OfficeMate เลยพาอัปเดตลิสต์ค่าลดหย่อนภาษีปี 2566 ว่ามีรายละเอียดอันไหนเพิ่มเติมอย่างไรกันบ้าง

เริ่มต้นวางแผนลดหย่อนภาษี

วางแผนภาษีล่วงหน้าด้วยการคำนวณแบบง่าย ๆ โดยนำเอา เงินเดือน ค่าจ้าง และโบนัส ของปีที่ผ่านมา มาใช้คาดการณ์รายได้ที่อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง จากนั้นนำมาหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่สามารถใช้สิทธิได้ เพื่อหาเงินได้สุทธที่จะนำไปคำนวณภาษี โดยมีสูตรการคำนวณ ดังนี้

  • สูตรคำนวณหาเงินได้สุทธิ เงินได้สุทธิ = รายได้ (ต่อปี) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
  • สูตรคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายจากเงินได้สุทธิ ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภา

รายการพื้นฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี 2566

การตรวจสอบรายการลดหย่อนภาษี ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการยื่นภาษี โดยรายละเอียดการลดหย่อนภาษีในแต่ละปี ก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย ตามแต่กฎหมายในยุคสมัยของรัฐบาล ว่ามีนโยบายสนับสนุนการยื่นภาษี ผ่านการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการลงทุนหรือใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน ทำให้ในแต่ละปีเราต้องมีการตรวจสอบว่า มีรายการลดหย่อนภาษีอะไรเพิ่มเติมบ้างในปี 2566

ยื่นภาษี_2566_2_OfficeMate

กลุ่มลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว 

  1. ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  2. คู่สมรส (จดทะเบียนสมรส – ไม่มีรายได้) 60,000 บาท
  3. บุตร คนละ 30,000 บาท หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • อายุไม่เกิน 20 ปี
    • ถ้าอายุ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
    • บุตรมีเงินได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี
      ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จะสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
  4. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
  5. ค่าดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และสามารถหักลดหย่อนสำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
  6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวคนพิการ

กลุ่มประกันและการลงทุน 

  1. ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท
  2. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของเราและคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  3. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต (คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  4. เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
    • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  6. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  7. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  8. กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
    • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
    • ขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  9. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
    • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
  10. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 30,000 บาท

ทั้งนี้ กองทุน RMF, กองทุน SSF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ 

  1. ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • เป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม หรือที่อยู่อาศัย โดยเราต้องอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
    • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
    • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ
    • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถรวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
    • กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน
  2. เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 100,000 บาท
  3. ช้อปดีมีคืน 40,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
    • ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
    • มีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ลดหย่อนได้ 30,000 บาท
    • มีใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดหย่อนเพิ่มได้อีก 10,000 บาท
    • ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 66

กลุ่มเงินบริจาค

  1. บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬา พัฒนาสังคมต่าง ๆ มูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  3. เงินบริจาคอื่น ๆ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

ระยะเวลาการยื่นภาษี 2566 

ตั้งแต่วันที่  1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2567 โดยถ้ายืนภาษีออนไลน์ สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2567

ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง? 

  • ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  • ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th
  • ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรเป็นอันดับแรก จึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้

เตรียมเอกสารสำหรับการยื่นลดหย่อนภาษี 

รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น)

  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
  • รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี

ยื่นภาษี_2566_3_OfficeMate

การเตรียมตัวเพื่อนำไปสู่การยื่นภาษี 2566 รวมถึงคำนวณรายการใช้จ่ายเพื่อนำมาลดหย่อน ถือเป็นหนึ่งในการวางแผนการเงินที่ช่วยให้ทุกการใช้จ่าย มีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น 

บทความที่เกี่ยวข้อง