
หลายอย่างตอนนี้อาจเรียกว่าเข้าขั้นวิกฤต เมื่อจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มีมากกว่าจำนวนเตียงในโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ก็ Workload อีกมาตรการหนึ่งที่พอจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในตอนนี้ คือ การทำ Home Isolation หรือการแยกรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นทางออกที่ถือว่า ‘เวิร์ก’ และใช้กันในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่น สวีเดน ฯลฯ
ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกต้องทำอย่างไร?
1.ขั้นแรกแนะนำให้ยืนยันผลการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ซึ่งหากมีผลตรวจแบบ ATK จะสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ฟรี
2.ระหว่างรอยืนยันผลตรวจให้แยกกักตัวจากคนในครอบครัว และไม่ออกไปพบปะผู้คนนอกบ้าน
3.หากผลตรวจ RT-PCR ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้ติดต่อหาประกันสังคม หรือประกันสุขภาพ เพื่อจัดหาโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel สำหรับพักรักษาตัว สำหรับใครที่ไม่มีประกัน สามารถติดต่อหาเตียงโดยตรงจากโรงพยาบาลได้เลย
4.สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่ประเมินโดยแพทย์แล้วว่าอาการไม่รุนแรง สามารถแจ้งขอกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก Spring News
แต่การทำ Home Isolation มีกฎเกณฑ์และข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติอยู่หลายข้อ วันนี้ OfficeMate จึงรวบรวมมาให้ สำหรับใครที่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ว่าสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ ใช้ระหว่างรอเตียง หรือจำเป็นต้องกักตัวที่บ้านเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงก็ได้เช่นกัน
Home Isolation เหมาะกับใคร?
การแยกกักตัวเพื่อรักษาโควิด-19 ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน คนที่เข้าเกณฑ์ และสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ ต้องมีคุณสมบัติ คือ

- เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่รอแอดมิทเข้าโรงพยาบาล และแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ระหว่างรอ
- ได้รับการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel มาแล้วอย่างน้อย 10 วัน และได้รับอนุญาตให้กลับมารักษาตัวแยกที่บ้านต่อได้
- ต้องเป็นผู้ป่วยติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง
- มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง
- ไม่มีภาวะอ้วน
- ไม่มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคภูมิคุ้นกันบกพร่อง และเบาหวาน
นอกจาก 7 ข้อนี้ หากไม่เข้าเกณฑ์แต่แพทย์พิจารณาแล้ว ก็สามารถแยกตัวรักษาที่บ้านได้ ที่สำคัญ คือ ต้องมีผลตรวจที่รับรองว่าติดโควิด-19 ได้รับอนุญาตจากแพทย์ และมีความยินยอมที่จะรักษาตัวเองที่บ้านเท่านั้น ถึงจะสามารถ Home Isolation ได้นะคะ
สำหรับใครที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว คือมีอาการไม่หนักมาก สามารถลงทะเบียนเพื่อขอแยกกักตัวรักษาเองที่บ้าน Home Isolation ได้ที่ https://crmsup.nhso.go.th/ หรือแอดไลน์ @nhso เลือกเมนูลงทะเบียนรักษาตัวที่บ้าน และรอให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ สิ่งที่จะได้รับ คือ
- วิดีโอคอลประเมินอาการวันละ 2 ครั้ง
- อาหาร 3 มื้อ
- เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
- ยารักษาอาการเบื้องต้น และยาฟ้าทะลายโจร
- ประสานงานส่งต่อหากอาการแย่ลง และส่งยาฟาวิพิราเวียร์ประคองอาการ
สภาพแวดล้อมของบ้านที่เหมาะสมสำหรับ Home Isolation
- ควรเป็นบ้านที่อยู่คนเดียว หรือมีคนพักด้วยไม่เกิน 1 คน
- มีห้องนอนส่วนตัว หรือมีพื้นที่มากพอให้สามารถนอนห่างกันได้อย่างน้อย 2 เมตร
- มีหน้าต่างระบายอากาศ (ในช่วงนี้ไม่ควรเปิดแอร์)
- มีของใช้จำเป็นครบครัน มีผู้ที่สามารถจัดหาอาหารมาให้ได้
- สามารถติดต่อแจ้งอาการกับโรงพยาบาล และเดินทางไปโรงพยาบาลได้สะดวก
หากพิจารณาแล้วว่าที่พักเหมาะสมสามารถทำ Home Isolation ได้ ต่อไป ไปดูวิธีการปฏิบัติตัวระหว่างรักษาตัวที่บ้านกัน
ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อต้อง Home Isolation?
- ระหว่าง Home Isolation ห้ามออกจากที่พักเด็ดขาด และห้ามมีผู้ใดมาเยี่ยมบ้าน พูดคุย ยกเว้นแต่จัดหาอาหารมาให้เท่านั้น
- หากอยู่ร่วมบ้านกับคนอื่นๆ ต้องเว้นระยะห่างจากทุกคนอย่างน้อย 2 เมตร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยเรื้อรัง
- หากมีผู้อื่นอยู่ด้วย ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- แยกของใช้ส่วนตัวจากผู้อื่น (จาน ช้อน ส้อม แก้ว สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ครีมทาผิว ผ้าเช็ดตัว ขันน้ำ ฯลฯ) สำหรับภาชนะอาหาร เมื่อทานเสร็จแล้ว ควรล้างทำความสะอาดด้วยตัวเอง
- แยกห้องนอนส่วนตัว หรือหากแยกไม่ได้ ให้นอนห่างจากคนอื่นๆ อย่างน้อย 2 เมตร
- ซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน แยกจากคนอื่นๆ

- ใช้ห้องน้ำแยกจากคนอื่นๆ หากแยกไม่ได้ให้ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม อย่างก็อกน้ำ สายฉีดชำระ ฝาชักโครก ฝักบัว และที่รองนั่ง ด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์
- ทานอาหารแยกจากคนอื่นๆ หากสั่งเดลิเวอรี ต้องไม่รับอาหารจากมือคนส่งอาหารโดยตรง
- ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ให้บ่อยที่สุด ทำความสะอาดมือทุกครั้งก่อนสัมผัสบริเวณต่างๆ และหลังจากสัมผัสควรฉีดเสปรย์แอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคในบริเวณจุดสัมผัสอีกครั้ง
- แยกขยะทุกชิ้น ทั้งเศษอาหาร กล่องข้าว ผ้าอนามัย ไม้จิ้มฟัน คอตตอนบัต ทิชชู่ หน้ากากอนามัย ฯลฯ เก็บใส่ถุงขยะมัดปากถุงให้แน่น ระบุเป็นขยะติดเชื้อ
ผู้ป่วยโควิด-19 ดูแลตัวเองช่วง Home Isolation
- พักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง/วัน
- ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
- สังเกตอาการตัวเองทุกวัน เตรียมเทอร์โมมิเตอร์ หรือปรอทสำหรับวัดอุณหภูมิร่างกาย และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว สำหรับตรวจเช็กปริมาณออกซิเจนในเลือด
- หากมีไข้ ให้ทานยาพาราเซตามอล ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
- สำหรับอาการอื่นๆ เช่น ไอ มีเสมหะ หรือมีน้ำมูก ให้ทานยาน้ำแก้ไอ ยาลดน้ำมูก รักษาตามอาการ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- ทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย หากมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ควรงดทานนม โยเกิร์ต และผลไม้
- หากทานอาหารไม่ค่อยได้ ให้ทานน้อยๆ แต่ทานบ่อยๆ ดื่มน้ำให้มากขึ้น หรือดื่มน้ำผสมเกลือแร่ (เกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกาย หรือเกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย)

โดยปกติแล้ว หากได้รับวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการพิจารณาให้แยกรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) โรงพยาบาลจะมีอุปกรณ์สนับสนุน คือ ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว สำหรับตรวจเช็กร่างกาย ยาสำหรับรักษาตามอาการ และประเมินอาการด้วยแพทย์ หรือพยาบาลทุกวันผ่านระบบเทเลเมด หาก Home Isolation แล้วเริ่มมีอาการแย่ลง ‘ไข้สูง หอบ เหนื่อย’ (เช่น ลุกไปเข้าห้องน้ำแล้วเหนื่อย) หรือมีอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ให้รีบแจ้งแพทย์ผู้รักษาทันที
*สำหรับใครที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก แนะนำให้นอนคว่ำ หรือนอนตะแคงซ้าย
*การเดินทางไปโรงพยาบาลให้ไปด้วยรถยนต์ส่วนตัว เปิดหน้าต่างระบายอากาศ หรือรถพยาบาลเท่านั้น
ลิสต์ยา และของใช้เตรียมให้พร้อมก่อน Home Isolation
- ยาลดไข้พาราเซตามอล : ทานครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ในกรณีที่มีไข้
- ยาแก้แพ้ หรือยาลดน้ำมูก : ทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง
- ยาแก้ไอ หรือยาน้ำแก้ไอ : ทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร สำหรับยาน้ำแก้ไอ ให้จิบครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง
- ยาธาตุน้ำขาว : ในกรณีที่ท้องเสีย ให้จิบครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
- ยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ
- ผงเกลือแร่ หรือเครื่องดื่มเกลือแร่
- ฟ้าทะลายโจร (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน หรือทานในปริมาณที่ระบุเอาไว้ตามฉลาก)
- น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ สำหรับเชื้อทำความสะอาดพื้นบ้าน และพื้นผิว
- เจลแอลกอฮอล์ และสบู่เหลวสำหรับทำความสะอาดมือ
- แอลกอฮอล์ชนิดน้ำ สำหรับพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวหลังสัมผัส
- หน้ากากอนามัย ควรเปลี่ยนใช้อันใหม่ทุกวัน (ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้า)
- เทอร์โมมิเตอร์ หรือปรอทสำหรับวัดไข้
- ชุดตรวจ ATK สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด-19
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว สำหรับเช็กระดับออกซิเจนในเลือด (ไม่ควรต่ำกว่า 95%)
- ถังขยะ และถุงขยะติดเชื้อ (สีแดง) สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย ทิชชู่ใช้แล้วที่ปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลาย มัดปากถุงให้แน่น และแยกทิ้ง
- ทิชชู่ และทิชชู่เปียก
- น้ำดื่ม
- อาหารการกิน หากสามารถสั่งเดลิเวอรี หรือมีคนจัดหาให้ แนะนำให้ทานอาหารปรุงสุก สดใหม่ แต่อาจตุนไข่ไก่ ปลากระป๋อง ข้าวสาร โจ๊กซอง หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สำหรับทานในบางมื้อ
- ของใช้อื่นๆ สำหรับแยกใช้กับคนในบ้าน เช่น ยาสีฟัน แชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า สบู่ หวี ผ้าเช็ดตัว จานชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ สำลี คัตเติ้ลบัต กรรไกรตัดเล็บ มีดโกนหนวด ฯลฯ
Home Isolation เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ ลดภาวะ Workload ของบุคลากร เหมาะสำหรับผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ป่วยที่อาการไม่หนักเท่านั้น รวมถึงในกรณีที่เตียงรักษาไม่เพียงพอ กำลังรอเตียงอยู่ที่บ้าน นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยความเข้าใจ ร่วมถึงวินัยในการแยกกักตัวอย่างเข้มงวด หากไม่แน่ใจว่าตัวเองจะสามารถทำ Home Isolation ได้ ให้ติดต่อขอรับเตียงรักษาจะดีกว่าค่ะ
เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายตัวเร็วขึ้นเรื่อยๆ ใครที่ต้อง Home Isolation อย่าลืมเตรียมของใช้และหยูกยาให้พร้อมตามลิสต์ที่เราจัดไว้ ส่วนใครอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือเริ่มมีอาการน่าสงสัย ตรวจเช็กตัวเองด้วยอุปกรณ์ตรวจวัด ช้อป เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 หรือขาดเหลืออะไรก็คลิกเลยที่ OfficeMate เราพร้อมส่งตรงถึงหน้าบ้านฟรีด้วยบริการจัดส่งที่ปลอดภัย!
บทความแนะนำ!
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการแพทย์ / โรงพยาบาลเปาโล