คีย์บอร์ด ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นอย่างมากในสังคมดิจิตัล ยุคที่การใช้คอมพิวเตอร์เป็นที่แพร่หลาย และอาจกล่าวได้ว่า มีคอมพิวเตอร์ที่ไหน ต้องมีคีย์บอร์ดที่นั่น แม้แต่โน้ตบุ๊กหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาอย่างแท็บเล็ตและไอแพด ก็เริ่มหันมาใช้คีย์บอร์ดในการต่อพ่วงกันมากขึ้น เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการใช้งาน เพราะในแต่ละวัน เราอาจต้องใช้เวลาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหลายชั่วโมง การเลือกคีย์บอร์ดคุณภาพดีและเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้การทำงานราบรื่น

บทความนี้จึงได้ถูกจัดทำขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคีย์บอร์ดที่คุณจำเป็นต้องรู้ ทั้งในแง่ของกลไกการทำงานภายใน และรูปลักษณ์ภายนอกที่เอื้อต่อการใช้งาน ก่อนอื่นเลย คุณต้องเข้าใจวัตถุประสงค์การทำงานหลัก ๆ ของคีย์บอร์ดที่กำลังมองหา เช่น ใช้คีย์บอร์ดเพื่อพิมพ์งานทั่ว ๆ ไปในออฟฟิศ เน้นคีย์บอร์ดสำหรับการเล่นเกมที่ตอบสนองได้รวดเร็ว หรือต้องพกพาคีย์บอร์ดติดตัวสำหรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานบ่อย ๆ เมื่อสามารถกำหนดรูปแบบการใช้งานหลัก ๆ ได้แล้ว การเลือกหาคีย์บอร์ดที่ตรงตามความต้องการก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยมีหลากหลายปัจจัยที่จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าคีย์บอร์ดแบบไหนที่ใช่สำหรับคุณมากที่สุด

รูปแบบการทำงาน

อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ การเข้าใจรูปแบบการใช้งานจะทำให้สามารถเลือกคีย์บอร์ดที่ตอบโจทย์มากที่สุด คราวนี้เราลองมาดูในเรื่องกลไกการทำงานของคีย์บอร์ด ซึ่งเป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ช่วยให้คุณตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น โดยสามารถแบ่งแยกคีย์บอร์ดตามรูปแบบทำงานออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ คีย์บอร์ดประเภทปุ่มยาง (Rubber Dome Keyboard / Membrane Keyboard) และคีย์บอร์ดประเภทกลไก (Mechanical Keyboard)

Membrane Keyboard

Membrane Keyboard หรือ คีย์บอร์ดปุ่มยาง เป็นคีย์บอร์ดที่ใช้งานกันทั่วไปตามสำนักงาน และสถานศึกษาต่าง ๆ โดยการทำงานของคีย์บอร์ดประเภทนี้จะมีปุ่มยางอยู่ใต้แป้นพิมพ์แต่ละปุ่ม เมื่อมีการกดปุ่มที่แป้นพิมพ์ ปุ่มยางจะยุบตัวไปเปิดการทำงานของแผงวงจรพลาสติกข้างใต้ และส่งสัญญาณไปที่คอมพิวเตอร์ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้คีย์บอร์ดกับการพิมพ์งานทั่ว ๆ ไป ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วในการส่งสัญญาณมากนัก เป็นคีย์บอร์ดที่มีราคาไม่สูงมาก หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป

Mechanical Keyboard

Mechanical Keyboard หรือ คีย์บอร์ดกลไก รูปลักษณ์ภายนอกอาจดูเหมือนคีย์บอร์ดปุ่มยางทั่วไป แต่มีกลไกการทำงานที่แตกต่างเป็นอย่างมาก ด้านล่างแป้นพิมพ์ของ Mechanical Keyboard มีการใช้สปริงโลหะประกอบเข้ากับกลไกภายในของแต่ละปุ่ม ทำให้รองรับการกดได้ดีกว่าคีย์บอร์ดแบบ Membrane Keyboard ทั่วไป เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเร็วในการพิมพ์งาน รวมทั้งสายเกมเมอร์ที่นอกจากความเร็วแล้ว ยังต้องใช้การกดหลาย ๆ ปุ่มพร้อมกัน เนื่องจากกลไกการทำงานที่ให้การตอบสนองได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งตัวบอดี้ที่มาจากวัสดุคุณภาพดี Mechanical Keyboard จึงมักมีราคาที่สูงกว่า Membrane Keyboard ตามไปด้วย แต่ข้อดี คือ คุณสามารถเลือกปรับแต่งคีย์บอร์ด หรือ Custom Keyboard ได้ในแบบที่คุณต้องการ

วัสดุที่ใช้ในการผลิต

วัสดุที่ใช้ในการผลิตแป้นพิมพ์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพและความทนทานในการใช้งานเป็นอย่างมาก และการใช้วัสดุคนละชนิดย่อมส่งผลต่อราคาขายสินค้าที่แตกต่างกันไปด้วย

ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene)

เป็นพลาสติกที่มีความยืดหยุ่น ขึ้นรูปง่าย ทั้งยังให้สัมผัสที่เรียบลื่น ถูกพบในการผลิตคีย์บอร์ด รวมทั้งส่วนประกอบอื่น ๆ ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มากที่สุด เนื่องจากมีราคาถูกกว่าวัสดุประเภทอื่น ๆ มีความแข็งแรงและทนทานพอสมควร

PBT (Polybutylene terephthalate)

เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงและทนทานกว่า ABS เมื่อใช้งานเป็นเวลานานหรือโดนแสงเป็นประจำ จะมีอัตราการเหลืองที่น้อยกว่า ABS ถึงแม้จะมีความแข็งแรงมากกว่า แต่เมื่อทดสอบกับการการทุบหรือการตกกระแทก PBT จะมีความทนทานน้อยกว่า ABS ที่ยืดหยุ่นได้มากกว่า ซึ่งคุณสมบัติการยืดหยุ่นน้อยและขึ้นรูปยากนี้ ส่งผลให้ PBT มีต้นทุนการผลิตที่สูงและไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่ากับ ABS

POM (Polyoxymethyleneor / Polyoxymethylene)

เป็นวัสดุที่มีความทนทานเหนือกว่า PBT ทนต่อการกัดกร่อนจากสารเคมีต่าง ๆ จึงทำให้มีอัตราการสึกหรอต่ำ อย่างไรก็ตาม POM เป็นวัสดุที่หายาก และมีราคาค่อนข้างสูง เราจึงไม่ค่อยพบเห็นการใช้วัสดุชนิดนี้ในโรงงานผลิตทั่ว ๆ ไป

PC (Polycarbonate)

นิยมใช้ควบคู่ ABS มีลักษณะเป็นพลาสติกใส ส่วนใหญ่มีราคาสูง และสึกหรอง่าย จึงมักใช้ทำเป็น Keycap สีสันสดใสเพียงไม่กี่ปุ่ม เน้นใช้ตกแต่งให้ดูสวยงามมากกว่าการใช้งานจริง

ขนาดและน้ำหนัก

ขนาดและน้ำหนักของคีย์บอร์ดเป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาสำหรับผู้ที่ต้องเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนที่ใช้งานคีย์บอร์ดบ่อย ๆ หากเป็นผู้ที่นั่งพิมพ์งานหรือเล่นเกมอยู่กับที่ น้ำหนักของคีย์บอร์ดอาจไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่นัก เพราะถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว คีย์บอร์ดที่มีน้ำหนักมากมักเกิดจากการประกอบวัสดุที่มีความหนาแน่น และให้ความทนทานที่มากกว่า อย่างเช่น แมคคานิคอลคีย์บอร์ด (Mechanical Keyboard) ที่มีตัวบอดี้เป็นวัสดุคุณภาพสูง รวมทั้งกลไกการทำงานจากสปริงโลหะ ทำให้มีน้ำหนักที่มากกว่าคีย์บอร์ดปุ่มยางทั่วไป จึงทำให้ไม่สะดวกต่อการพกพาเท่าที่ควร

ในด้านขนาดและสัดส่วนของคีย์บอร์ด มีให้เลือกตามความต้องการใช้งานหลัก ๆ อยู่ 4 แบบ

Full Size (100%)

คีย์บอร์ดมาตรฐานขนาดเต็ม มีขนาดใหญ่สุด ทำให้ใช้พื้นที่ในการจัดวางมาก มีจำนวนปุ่มตั้งแต่ 101-105 ปุ่ม ซึ่งนั่นถือเป็นข้อดีที่ช่วยให้เราใช้ทำงานได้แบบ 100% จากปุ่มที่มีมาให้อย่างครบครัน ทั้งอักขระ ตัวเลข ลูกศร และปุ่มฟังก์ชันต่าง ๆ โดยไม่ต้องหาซื้อแป้นรูปแบบอื่นเพิ่มให้เปลืองเงิน มีข้อเสีย คือ เปลืองพื้นที่ในการตั้งวาง รวมถึงต้องการพื้นที่สำหรับช่วงข้อมือและวงแขนที่กว้างขึ้นเมื่อใช้งาน ซึ่งอาจทำให้ใช้งานได้ไม่ถนัด และเกิดอาการเมื่อยล้าตามมาได้

TKL – Ten-Key-Less Keyboard (80%)

เป็นคีย์บอร์ดที่ได้รับความนิยมอีกรูปแบบหนึ่งในหมู่เกมเมอร์ ลักษณะเหมือนกับคีย์บอร์ดขนาด 100% ต่างกันตรงที่แบบ 80% จะไม่มี Numpad หรือปุ่มตัวเลข 1-9 ด้านขวามือ เพื่อลดขนาดให้ตัวบอดี้ของคีย์บอร์ดเล็กลง เหลือพื้นที่สำหรับวางเมาส์และสิ่งของอื่น ๆ บนโต๊ะมากขึ้น และยังลดระยะความกว้างในการกางแขนขณะที่ใช้งาน แต่หลาย ๆ คนอาจไม่คุ้นชินมือจากการต้องเปลี่ยนมากดปุ่มตัวเลขที่ตำแหน่งด้านบนของคีย์บอร์ดแทน

Compact Keyboard (60% – 75%)

คีย์บอร์ดขนาดกะทัดรัดแบบ 60% – 75% เป็นการตัดทอนขนาดตัวบอดี้ให้เล็กลงด้วยดีไซน์การจัดวางแต่ละปุ่มบนแป้นพิมพ์ให้เรียงชิดกัน ไม่เหลือช่องว่างใด ๆ ในขนาด 75% จะมีจำนวนปุ่มเท่ากับแบบ TKL 80% สำหรับขนาด 60% และ 65% จะมีการตัดปุ่ม Function ต่าง ๆ ออกไปจนแทบจะเหลือแต่ปุ่มตัวอักษรเท่านั้น แต่ Compact Keyboard ก็ยังเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ พิมพ์งานสบาย และด้วยขนาดกระทัดรัด จึงทำให้พกพาไปใช้งานได้อย่างสะดวกในทุก ๆ ที่

Numpad / Macro pad

เป็นคีย์บอร์ดขนาดเล็กสุด มักจะนำมาใช้งานเป็นแป้นพิมพ์เสริมหรือสร้างคีย์ลัดสำหรับ Custom Keyboard ที่โดนตัดปุ่มตัวเลขออกไป โดยผู้ใช้สามารถปรับแต่งและเพิ่มปุ่มคำสั่งต่าง ๆ ที่คีย์บอร์ดหลักไม่มีได้ตามความต้องการ

สัมผัสและเสียง

หากจะพูดถึงความเงียบในการทำงาน คงต้องยกให้กับ Membrane Keyboard ที่ทำงานด้วยปุ่มยางและแผงวงจรพลาสติก จึงให้เสียงที่เบากว่าในขณะที่กดแป้นเมื่อเทียบกับ Mechanical Keyboard แต่หลาย ๆ คนกลับชอบคีย์บอร์ดประเภทหลังมากกว่า ด้วยเสียงและสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ กดได้นุ่มและเพลินกว่าคีย์บอร์ดปุ่มยางทั่วไป ทั้งยังมีเสียงที่น่าฟังมากกว่า แต่หากลองสังเกตดี ๆ Mechanical Keyboard หรือคีย์บอร์ดประเภทกลไกนี้จะมีเสียงและสัมผัสตอนกดปุ่มที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทสวิตช์ที่มีให้เลือกใช้ได้ตามความชอบ

Linear Switch (Red Switch)

เป็นสวิตช์ใน Mechanical Keyboard ที่มีแรงต้านน้อยสุด เนื่องจากมีกลไกด้านในที่เป็นเส้นตรง ทำงานด้วยแรงกดจังหวะเดียว เมื่อกดแล้วจะรู้สึกถึงความรวดเร็ว ตอบสนองได้เป็นอย่างดีโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยน้ำหนักในการกดมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องพิมพ์งานปริมาณมากให้เสร็จทันในเวลาที่จำกัด ต้องการพิมพ์งานด้วยความรวดเร็ว หรือเหล่าเกมเมอร์ที่ต้องกดหลาย ๆ ปุ่มพร้อมกันโดยไม่ต้องการออกแรงเยอะ รวมถึงผู้ที่ต้องการความเงียบในการทำงาน Linear Switch จะช่วยให้การกดแป้นแต่ละครั้งเกิดเสียงดังรบกวนน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสวิตช์ประเภทอื่น ๆ ของ Mechanical Keyboard อย่างไรก็ตาม สวิตช์ประเภทนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีน้ำหนักนิ้วมาก เพราะหากออกแรงกดเกินความจำเป็นในระยะเวลายาวนานต่อเนื่องกัน อาจก่อให้เกิดความรู้สึกเมื่อยล้าที่นิ้วตามมา

Clicky Switch (Blue Switch)

ทำงานด้วยการกลไกแบบ 2 จังหวะ มีแรงต้านนิ้วมาก เมื่อกดจะมีเสียง “คลิก” อันเป็นเอกลักษณ์ คล้ายกับการกดแป้นพิมพ์ดีด หลายคนที่ชื่นชอบการเล่นเกมจึงเลือกใช้สวิตช์ประเภทนี้ที่ให้ทั้งความรู้สึกเพลิดเพลินขณะที่กด และยังให้ความแม่นยำสูง เนื่องจากเป็นสวิตช์ที่ใช้แรงกดค่อนข้างเยอะ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการเผลอไปกดโดนปุ่มอื่นโดยไม่ตั้งใจ ข้อควรพิจารณาสำหรับ Clicky Switch คือ เมื่อกดปุ่มจะส่งเสียงดังชัดเจน ซึ่งอาจไปรบกวนเพื่อนร่วมงานหรือผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกันได้ จึงเหมาะสำหรับการใช้ทำงานหรือเล่นเกมในสถานที่ส่วนตัว

Tactile Switch (Brown Switch)

เป็นดีไซน์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Linear และ Clicky กล่าวคือ มีกลไกการทำงาน 2 ระบบเหมือนกับ Clicky เมื่อกดจะมีแรงต้านเล็กน้อย แต่จะมีความหนึบ กดสนุกมือ ไร้เสียงดังรบกวนเช่นเดียวกับ Linear จึงเหมาะที่จะใช้สำหรับการนั่งทำงานในสำนักงานหรือในที่พักอาศัยร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้น การที่ต้องใช้แรงกดพอประมาณยังช่วยลดความผิดพลาดในการกดปุ่มบนแป้นพิมพ์ได้อีกด้วย

การเชื่อมต่อ

รูปแบบการเชื่อมต่อที่เหมาะสมจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เพิ่มความสะดวกในการใช้งานคีย์บอร์ดมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าการเลือกคีย์บอร์ดแบบไร้สาย เชื่อมต่อโดย Bluetooth หรือพอร์ต USB นั้นค่อนข้างสะดวกกว่าคีย์บอร์ดแบบมีสายเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องเสียเวลาจัดการกับสายคีย์บอร์ดที่พะรุงพะรัง พกพาไปไหนก็ไม่สะดวก แต่คีย์บอร์ดไร้สาย หรือ Wireless Keyboard นั้นมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดมีสายทั่วไป และคุณภาพสัญญาณจากการเชื่อมต่อไร้สาย หรือ Bluetooth อาจไม่เสถียรเท่ากับการใช้สายเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์โดยตรง นอกจากนั้น คีย์บอร์ดไร้สายหลาย ๆ รุ่นยังทำงานด้วยแบตเตอรี ทำให้ต้องสิ้นเปลืองกับการหาซื้อถ่านมาเปลี่ยนตลอดอายุการใช้งาน

การรับประกันและบริการหลังการขาย

ปัจจัยสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้สำหรับการเลือกซื้อคีย์บอร์ด คือ การรับประกันและบริการหลังการขาย ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อ ควรศึกษาการเงื่อนไขอย่างละเอียดว่าการรับประกันนั้นครอบคลุมกรณีใดบ้าง อาการชำรุดประเภทไหนสามารถส่งซ่อมได้ และประเภทไหนสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้เลย และในกรณีไหนที่ผู้ใช้งานต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เหล่านี้ล้วนเป็นรายละเอียดที่ควรตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เพื่อการใช้งานได้อย่างถูกวิธี และไม่เสียสิทธิ์ในฐานะผู้บริโภคไปอย่างเปล่าประโยชน์

ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่เราได้รวบรวมมาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกคีย์บอร์ดสักชิ้นที่จะอยู่กับคุณไปอีกนาน เพราะการเลือกคีย์บอร์ดที่เข้ากับสไตล์การใช้งานจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้เร็วและราบรื่นยิ่งขึ้น ตรงกันข้าม หากคีย์บอร์ดเป็นอุปสรรคในการดำเนินการต่าง ๆ คงต้องใช้เวลานานกว่าที่วางแผนไว้ในการไปถึงจุดหมาย หรืออาจก่อให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกแย่ ๆ ระหว่างทาง จนถึงขั้นล้มเลิกความตั้งใจนั้นไปเลยก็ได้ ให้คีย์บอร์ดดี ๆ ที่ตอบโจทย์ปลุกพลังในตัวคุณให้พร้อมสำหรับการพิชิตภารกิจในแต่ละวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ!

https://www.ofm.co.th/category/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C/%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล

https://keychronthailand.com

https://itigic.com

https://www.quickserv.co.th

https://kbgangster.com