หลายคนหันมาหาช่องทางเพิ่มรายได้ด้วยการขายของออนไลน์กันมากขึ้น แม้การแข่งขันจะสูง แต่ก็ถือว่าขายง่าย ลูกค้าเยอะ และเป็นอาชีพที่เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนี้มากที่สุด

แต่การขายของออนไลน์ที่ดูเหมือนจะเริ่มต้นง่ายนั้น อันที่จริงก็มีข้อกฎหมายบังคับเอาไว้ว่าจะต้องจดทะเบียนขึ้นเป็นร้านค้าออนไลน์ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ส่วนใหญ่มักมองข้ามไป วันนี้เราจะพาไปดูกันว่า ถ้าจะขายของออนไลน์นั้น ต้องจดทะเบียนอะไรบ้าง? แล้วการจดทะเบียนต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์กับร้านค้าออนไลน์อย่างไร? ไปดูกันเลย

เปิดร้านขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  

ตามกฎหมาย หากจะเปิดร้านขายของออนไลน์ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายนี้บังคับทั้งการขายของออนไลน์แบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งแบบมีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน หากไม่ทำตามก็มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท และปรับไม่เกินวันละ 100 บาท จนกว่าจะไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ร้านขายของออนไลน์แบบไหน ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  1. ร้านขายของออนไลน์/ผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย
  2. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP)
  3. ผู้ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Webhosting)
  4. ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการ ผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Marketplace) เช่น Kaidee, Shopee, Lazada 

ร้านขายของออนไลน์และธุรกิจเหล่านี้ต้องขอจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดขาย โดยจะต้องมีหน้าเว็บไซต์ขายสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ 

ร้านขายของออนไลน์ จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ไหน? 

  1. ร้านขายของออนไลน์ที่อยู่ในเขตกรุงเทพ จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่สำนักงานเขตและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรุงเทพมหานคร 
  2. ร้านขายของออนไลน์ในจังหวัดอื่นๆ จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ เทศบาลจังหวัดหรือองค์การบริหารส่วนตำบล 

เอกสารสำหรับจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

  1. บุคคลธรรมดา
  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกอบการ
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
  • แบบฟอร์มจดทะเบียนพาณิชย์ (ทพ.) กรอกข้อ 1-8 ดูตัวอย่าง
  • เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดูตัวอย่าง
  • Print หน้าแรกของเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ วิธีการสั่งซื้อ วิธีการชำระเงิน และวิธีการจัดส่งสินค้า 
  • แผนที่สถานประกอบการ หากไม่ใช่เจ้าของบ้านต้องมีเอกสารยินยอมให้ใช้สถานที่ สำเนาทะเบียนบ้าน หรือหนังสือสัญญาเช่าแนบไปด้วย
  • หากผู้ประกอบการไม่ได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง ต้องมีหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจแนบไปด้วย
  1. นิติบุคคล
  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกอบการ
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
  • แบบฟอร์มจดทะเบียนพาณิชย์ (ทพ.) กรอกข้อ 1-8 และ 12 ดูตัวอย่าง
  • เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดูตัวอย่าง
  • Print หน้าแรกของเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ วิธีการสั่งซื้อ วิธีการชำระเงิน และวิธีการจัดส่งสินค้า 
  • แผนที่สถานประกอบการ หากไม่ใช่เจ้าของบ้านต้องมีเอกสารยินยอมให้ใช้สถานที่ สำเนาทะเบียนบ้าน หรือหนังสือสัญญาเช่าแนบไปด้วย
  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
  • หากผู้ประกอบการไม่ได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง ต้องมีหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจแนบไปด้วย

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

  • จดทะเบียนใหม่ 50 บาท
  • เปลี่ยนแปลงรายการ 20 บาท
  • ยกเลิกการจดทะเบียน 20 บาท

เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะได้รับคือ ใบทะเบียนพาณิชย์ แบบ พค. 0403 ตัวอย่าง www.trustmarkthai.com

อ่านคู่มือการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ที่ www.trustmarkthai.com 

ร้านขายของออนไลน์จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วได้อะไร?

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากได้ใบทะเบียนพาณิชย์ แบบ พค. 0403 แล้ว การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยยืนยันการมีอยู่จริงของร้านขายของออนไลน์ เรียกว่าเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้า ถือเป็นการยกระดับร้านขายของออนไลน์ของคุณให้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังสามารถขอเครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified เพื่อการันตีความเชื่อมั่นได้อีกด้วย

เครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified

เครื่องหมายทั้งสองนี้ ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นเครื่องหมายสำหรับแสดงบนหน้าเว็บไซต์ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับร้านขายของออนไลน์และ E-Marketplace

  • เครื่องหมาย DBD Registered เป็นเครื่องหมายรับรองการมีตัวตนของร้านขายของออนไลน์และ E-Marketplace 
  • เครื่องหมาย DBD Verified เป็นเครื่องหมายการันตีความน่าเชื่อถือ หากอยากได้เครื่องหมาย DBD Verified มีเงื่อนไข คือ จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมีเครื่องหมาย DBD Registered ติดบนหน้าเว็บไซต์นานเกิน 6 เดือน เรียกว่าเป็นการยกระดับขึ้นมาจากเครื่องหมาย DBD Registered นั่นเอง  

สำหรับร้านค้าออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายทั้งสองนี้ก็ได้ เพียงแค่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้เรียบร้อยก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับใครที่อยากเพิ่มความเชื่อถือ หรือมีเว็บไซต์ส่วนตัวในการขายของออนไลน์ ก็สามารถมาขอเครื่องหมายไปติดเอาไว้บนหน้าเว็บ วิธีการขอเครื่องหมาย ทำได้โดย

  1. เข้าเว็บไซต์ www.trustmarkthai.com/th  เลือกเมนูขอเครื่องหมาย DBD Registered หรือ ขอเครื่องหมาย DBD Verified
  2. เข้าสู่ระบบโดยใช้เลขบัตรประชาชน/เลขทะเบียนนิติบุคคล และรหัสผ่าน ใครยังไม่เคยลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ 
  3. เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ สแกนลงคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย
  • ใบทะเบียนพาณิชย์ แบบ พค.0403
  • เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้เอกสารชุดเดียวกับตอนยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้เลย
  • เอกสารอื่นๆ เช่น ใบแสดงการเป็นตัวแทนจำหน่าย, ใบแสดงลิขสิทธิ์, ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 
  1. กรอกข้อมูลส่วนตัว/ข้อมูลนิติบุคคลให้เรียบร้อย  
  2. หลังจากนั้น จะเข้าสู่การกรอกข้อมูลของธุรกิจร้านค้าออนไลน์ เช่น วันที่เริ่มต้นกิจการ, ชื่อร้านค้า, ประเภทร้านค้าออนไลน์, URL เว็บไซต์, โลโก้, วิธีชำระเงิน, วิธีจัดส่ง ฯลฯ
  3. เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ระบบจะบันทึกข้อมูลร้านค้าออนไลน์ของคุณ รออีเมลตอบกลับ เพื่อนำโค้ดเครื่องหมายไปแปะบนหน้าเว็บไซต์ได้เลย 

จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วต้องเสียภาษีแบบไหน?

มาถึงเรื่องของการเสียภาษี ร้านขายของออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม แต่ในกรณีที่ประกอบกิจการแล้วเกิดรายได้ ก็ให้เสียภาษีเงินได้ตามปกติในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น อ่านต่อ ขายของออนไลน์พร้อมทำงานประจำ ต้องเสียภาษีอย่างไร?

อีกเรื่องหนึ่ง คือ สำหรับบุคคลธรรมดาที่เปิดร้านขายของออนไลน์ โดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคล แต่การจดทะเบียนนิติบุคคลจะช่วยให้ร้านขายของออนไลน์เสียภาษีต่อปีน้อยลง เพราะอัตราภาษีของนิติบุคคลนั้นน้อยกว่าอัตราภาษีของบุคคลธรรมดานั่นเอง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของภาษีสำหรับร้านขายของออนไลน์

แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหน ร้านขายของออนไลน์ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็ควรยื่นแบบภาษีเงินได้ทุกปีตามกฎหมาย หากไม่ยื่นแล้วโดนตรวจสอบย้อนหลัง ระวังขนหน้าแข้งจะร่วงเอานะคะ  

อ่านเพิ่มเติม

เปิดร้านขายของออนไลน์ จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้เรียบร้อย แล้วมาช้อปอุปกรณ์เพื่อธุรกิจร้านค้าออนไลน์ของคุณ ได้เลยที่เว็บไซต์ OfficeMate เรามีบริการส่งฟรี เมื่อช้อปครบ 499 บาทด้วยนะ! 

ขอบคุณข้อมูลจาก