
ช่วงนี้หลายคนทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย ซึ่งข่าวคราวอาการข้างเคียงที่มีออกมาเรื่อยๆ อาจทำให้หวั่นวิตก โดยเฉพาะอาการลิ่มเลือดอุดตัน วันนี้ OfficeMate เลยพามาดูอาการเบื้องต้นที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน เอาไว้เช็กและเฝ้าระวังตัวเอง หากเกิดขึ้นจะได้เข้ารับการรักษาได้ทัน! ไปดูกันเลยค่ะ
ลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19
ต้องบอกก่อนว่า การเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นพบได้น้อยมาก ข้อมูลจาก สสส. บอกเอาไว้ว่า มีเพียงไม่เกิน 10 เคสต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง เท่านั้น
การเกิดลิ่มเลือดอุดตันมักเกิดขึ้นในช่วง 4-30 วัน หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก และโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 นั้น น้อยกว่าเข็มแรกถึง 10 เท่า!
กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19
กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ กลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งเพศหญิงมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเพศชาย และส่วนใหญ่จะเกิดกับชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเชีย

ทำไมวัคซีนโควิด-19 ถึงทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน?
รายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 พบว่ามักเกิดหลังจากการฉีดวัคซีน 2 ชนิด คือ AstraZeneca และ Johnson & Johnson ซึ่งเป็นการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เรียกว่า ภาวะ VITT (Vaccine-Induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia)
ภาวะ VITT เป็นภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ทำให้เกิดเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย ต่างจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันอื่นๆ แพทย์สันนิษฐานว่า ภาวะ VITT ที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนนี้ เป็นเพราะวัคซีนเข้าไปเร่งการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันที่หลอดเลือดดำตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเนื่องจากเกล็ดเลือดส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้สร้างลิ่มเลือด จึงเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำตามมานั่นเอง
ลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดดำ ส่วนใหญ่มักเกิดอุดตันที่บริเวณขา และเคลื่อนที่ไปตามการไหลเวียนของเลือดจนมาอุดตันอยู่ที่บริเวณปอด ผู้ป่วยจึงมักมีอาการหอบ หายใจลำบาก และรู้สึกเหนื่อยแบบเฉียบพลัน
ลิ่มเลือดอุดตัน อาการเป็นแบบไหน?
อาการเบื้องต้นที่เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่
- ปวดหัวรุนแรงและปวดอย่างต่อเนื่อง
- เจ็บหน้าอก หายใจเข้าได้ไม่เต็มอิ่ม
- ปวดหลัง
- ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้และอาเจียนต่อเนื่อง
- แขนหรือขาบวม มีอาการปวด และอ่อนแรง
- ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว พูดไม่ชัด
- ตามัว หรือเห็นภาพซ้อน
- ชัก
- มีจ้ำเลือดตามตัว หรือมีตุ่มน้ำที่มีเลือดออกภายใน (พบได้น้อย)
ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม และเข้ารับการรักษา

อาการข้างเคียงแบบไหน ไม่ต้องพบหมอ?
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย และถือเป็นอาการข้างเคียงปกติที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ
- ปวดบริเวณจุดที่ฉีดวัคซีน
- มีไข้ หนาวสั่น บางคนมีไข้สูง (มักพบในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี) อ่อนเพลีย ปวดหัว สามารถกินพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้
- คลื่นไส้ อาเจียน (ไม่เกิน 5 ครั้ง)
- มีผื่นแดงเล็กน้อยตามร่างกาย
อาการเหล่านี้ถือเป็นอาการข้างเคียงปกติที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 และจะหายไปเองภายใน 1-3 วัน
คำแนะนำ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ 3-4 แก้ว เพื่อลดความหนืดของเลือด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดออกกำลังกายหนักๆ หรือยกของหนัก
- สำหรับคนที่ดื่มกาแฟเป็นกิจวัตร สามารถดื่มกาแฟก่อนไปฉีดวัคซีนได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจหรือกังวลก็แนะนำให้งดไปก่อน
- แนะนำให้ฉีดวัคซีนกับแขนข้างที่ไม่ถนัด
- คนที่มีโรคประจำตัว หรือทานยาเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน
- อ่านเพิ่มเติม UPDATE คำแนะนำ ก่อนฉีด-หลังฉีด วัคซีนโควิด-19 ปฏิบัติตัวอย่างไร?
การเกิดลิ่มเลือดอุดตันสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการวินิจฉัยทันถ่วงที และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนมาแล้วก็ดูแลตัวเองดีๆ ดื่มน้ำให้เยอะ อย่าเพิ่งออกกำลังกายหรือทำงานหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ และเฝ้าระวัง เช็กอาการของตัวเองอยู่เสมอนะคะ
อ่านเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับโควิด-19
- จับตาโควิด-19 ‘อังกฤษ-บราซิล-อินเดีย-แอฟริกาใต้’ 4 สายพันธุ์ ติดเชื้อง่าย แถมหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้!
- Update โควิด-19 ติดต่อได้ผ่านการแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne) ไกลกว่า 2 เมตร!
- เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด วินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือ?
ไม่ว่าจะฉีดแล้ว หรือยังไม่ได้ฉีด ก็ต้องดูแลตัวเองกันต่อไป ช้อปอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ได้เลยที่เว็บไซต์ OfficeMate
ขอบคุณข้อมูลจาก สสส. และ กระทรวงสาธารณสุข