‘รหัสผ่าน’ เป็นสิ่งที่ใช้กันแพร่หลายในโลกยุคดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นรหัสผ่านเข้าโซเชียลมีเดีย รหัสผ่านเข้าอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง รหัสผ่านเข้าแล็ปท็อป และรหัสผ่านอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยให้ข้อมูลทั้งหลายของเราบนแพลตฟอร์มนั้นๆ ซึ่งหากรหัสผ่านไม่มีความรัดกุม ก็จะเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพ หรือแฮกเกอร์เจาะเข้าไปล้วงเอาข้อมูลไปได้
วันนี้ OfficeMate เลยจะมาแชร์ข้อมูลการตั้งรหัสผ่านยอดแย่ ที่มีคนใช้ซ้ำเยอะ เดาง่าย แถมยังสบายแฮกเกอร์ ประจำปี 2021 พร้อมกับทริคการตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย ไปดูกัน!
รหัสผ่านยอดแย่ เดาง่าย แฮกสบายประจำปี 2021
ทั่วโลกมีการเก็บรวบรวมข้อมูลรหัสผ่านยอดแย่ ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมมาได้ให้ผลตรงกันว่า 123456 เป็นรหัสผ่านยอดแย่ที่คนใช้ซ้ำเยอะที่สุดในโลก แถมยังเดาง่าย ใช้เวลาเพียงไม่กี่วิก็สามารถเดาได้ นอกจากนั้น 123456 ยังติดท็อปรหัสผ่านยอดแย่มานานหลายปี ใครที่ใช้รหัสผ่านนี้อยู่ แนะนำว่าให้รีบเปลี่ยนด่วนๆ ก่อนจะโดนสุ่มแฮกเป็นรายต่อไปนะคะ!
ส่วนอันดับอื่นๆ OfficeMate จะโฟกัสไปที่รหัสผ่านยอดแย่ที่มีคนใช้เยอะ และเดาง่ายมากกก ประจำปี 2021 เก็บรวบรวมข้อมูลโดย NordPass ได้แก่
- 123456
- 123456789
- 12345
- qwerty
- password
- 12345678
- 111111
- 123123
- 1234567890
- 1234567
- qwerty123
- 000000
- 1q2w3e
- aa12345678
- abc123
- password1
- 1234
- qwertyuiop
- 123321
- password123
และนี่ก็คือ 20 อันดับรหัสผ่านยอดแย่ประจำปี 2021 ใครที่ใช้รหัสเหล่านี้อยู่แนะนำให้รีบเปลี่ยนด่วนๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพมาสุ่มล้วงข้อมูลไปได้ง่ายๆ ส่วนจะตั้งรหัสผ่านอย่างไรให้ปลอดภัย ไปดูเทคนิคที่ OfficeMate รวบรวมมาฝากกันต่อเลย!
เคล็ดลับตั้งรหัสผ่านอย่างไรให้ปลอดภัย จำง่าย แต่เดายาก!?
1.หลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านยอดแย่
จากลิสต์รหัสผ่านยอดแย่ แม้จะเหมาะกับคนขี้ลืม เพราะ จำง่าย แต่ก็อย่าลืมว่าทั้งหมดล้วนเป็นรหัสที่เดาง่าย สบายแฮกเกอร์เช่นกัน ใครกลัวจำรหัสผ่านไม่ได้ เลยเน้นตั้งง่ายๆ เอาไว้ก่อน บอกเลยว่ารีบเปลี่ยนให้ไว แล้วไปหาเทคนิคเก็บซ่อน หรือจำรหัสผ่านเอาจะดีกว่าค่ะ
2.รหัสผ่านที่ดีควรมีความยาวอย่างน้อย 8 ตัวอักษร
รหัสผ่านที่เดายากควรมีอย่างน้อย 8-12 ตัวอักษร เรียกว่ายิ่งยาวก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เปอร์เซ็นต์การสุ่มโดน หรือความน่าจะเป็นลดน้อยลงไป และถ้าจะให้ดี ใน 8-12 ตัวอักษรนี้ ควรประกอบไปด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ ตัวอักษรพิมพ์เล็ก ตัวเลข และสัญลักษณ์ ผสมปนเปกันอยู่ ก็จะช่วยให้เดายาก และแฮกยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
3.หลีกเลี่ยงการตั้งรหัสผ่านด้วยรูปแบบที่จำเจ
รูปแบบการตั้งรหัสผ่านที่แสนจำเจ ศึกษาโดยกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ พบว่ามี 3 รูปแบบ คือ
- ตัวพิมพ์ใหญ่ 1 ตัว + ตัวพิมพ์เล็ก 5 ตัว + ตัวเลข 3 ตัว
- ตัวพิมพ์ใหญ่ 1 ตัว + ตัวพิมพ์เล็ก 6 ตัว + ตัวเลข 2 ตัว
- ตัวพิมพ์ใหญ่ 1 ตัว + ตัวพิมพ์เล็ก 3 ตัว + ตัวเลข 5 ตัว
4.ไม่ใช้ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลของคนใกล้ชิดมาตั้งเป็นรหัสผ่าน
คนส่วนใหญ่นิยมใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด ฯลฯ มาตั้งเป็นรหัสผ่าน เพราะจำง่าย แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นรหัสผ่านที่เดาง่าย และเป็นชุดข้อมูลกลุ่มแรกๆ ที่จะถูกเดาได้มากที่สุด เพราะทุกวันนี้ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกเก็บรวบรวมไว้ในโซเชียลมีเดีย เปิดแทรคหาไม่กี่ทีก็เจอได้ง่ายๆ
นอกจากนั้น การใช้ข้อมูลส่วนตัวของคนใกล้ชิดมาตั้งเป็นรหัสผ่าน เช่น วันเกิดพ่อ/แม่ วันเกิดแฟน วันครบรอบแต่งงาน ฯลฯ อาจจะฟังดูโรแมนติก แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่มิจฉาชีพจะเดาได้ง่ายเช่นกัน
5.ตั้งรหัสผ่านให้เดายากด้วยการพิมพ์สลับภาษา
การพิมพ์สลับภาษาเป็นเทคนิคแปลกๆ แต่ก็ช่วยให้รหัสผ่านมีความปลอดภัยมากขึ้น วิธี คือ พิมพ์คำภาษาไทยโดยใช้แป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ เช่น ต้องการตั้งรหัสผ่านว่า ‘สมศรีมีสุข’ ก็ให้พิมพ์คำนี้ด้วยแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ จะได้เป็น l,Liu,ul6- เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเป็นการสุ่มตัวเลข ตัวอักษรพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ และสัญลักษณ์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง ไม่มีรูปแบบ และไม่มีข้อมูลส่วนตัว ช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ดีเลยล่ะค่ะ
6.ไม่ใช้รหัสผ่านเดียวกันในทุกๆ เว็บไซต์
หลายคนขี้ลืมก็เลยตั้งรหัสผ่านเดียวกันบนทุกๆ เว็บไซต์ และทุกๆ แพลตฟอร์ม แม้จะเป็นรหัสผ่านที่เดาได้ยาก แต่ถ้าเดาได้ครั้งเดียว หรือเกิดมีข้อมูลรหัสผ่านหลุดออกไปจากเว็บไซต์ที่ความปลอดภัยต่ำ มิจฉาชีพก็จะสามารถเข้าไป Login และดูดข้อมูลจากเว็บไซต์อื่นๆ ของคุณได้แบบสบายๆ เพราะฉะนั้น ขยันตั้งรหัสผ่าน ครีเอทรหัสผ่านแปลกๆ จะปลอดภัยกว่าค่ะ
7.ตั้งรหัสผ่านตามด้วยชื่อโซเชียลมีเดีย
จากข้อข้างบน ใครกลัวว่าถ้าตั้งรหัสผ่านหลายชุดแล้วจะจำไม่ได้ แนะนำให้คิดรหัสผ่านขึ้นมา 1 ชุด แล้วต่อท้ายด้วยชื่อของโซเชียลมีเดียนั้นๆ เช่น l,Liu,ul6-fb สำหรับใช้กับ Facebook, l,Liu,ul6-twt สำหรับใช้กับ Twitter, l,Liu,ul6-pc สำหรับใช้เข้าแล็ปท็อป ถือว่าปลอดภัยและช่วยประหยัดเมมโมรีในสมองลงได้
8.ตั้งรหัสผ่านเป็นชื่อเพลงหรือตัวอักษรแรกของเพลงที่ชอบ
เทคนิคสุดท้ายที่ครีเอทสุดๆ คือ การเอาชื่อเพลง หรือเนื้อเพลงท่อนที่ชอบมาตั้งเป็นรหัสผ่าน เช่น youbelongwithme หรือดึงตัวอักษรแรกจากเนื้อเพลงมาหนึ่งท่อนก็ได้ เช่น y’aotpwygf,s’sus (You’re on the phone with your girlfriend, she’s upset) จะเห็นได้ว่าไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลส่วนตัว ไม่มีแพทเทิร์น ถือว่าเดายากไม่แพ้เทคนิคอื่นๆ แถมยังจำง่ายอีกด้วย
ใครอ่านแล้วร้อนๆ หนาวๆ อย่าลืมกลับไปเช็กรหัสผ่านของตัวเองกันดู หากตรงกับรหัสผ่านยอดแย่ เป็นแพทเทิร์นเดิมๆ หรือมีข้อมูลส่วนตัวอยู่ ก็แนะนำให้เปลี่ยนด่วนๆ เพราะช่วงนี้มิจฉาชีพเยอะมากจริงๆ ค่ะ
อ่านบทความไลฟ์สไตล์ สาระความรู้ พร้อมรีวิวสินค้าเจ๋งๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.officemate.co.th/blog/ หรือเข้ามาช้อปสินค้าราคาถูก คุณภาพดี ได้ที่เว็บไซต์ OfficeMate ช้อปออนไลน์สบายๆ ตลอด 24 ชั่วโมง มีทุกอย่างที่คุณถามหา และบริการส่งฟรีถึงที่ เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท!
บทความแนะนำ!
ขอบคุณข้อมูลจาก