ผ่านปีเก่ากันไป เข้าสู่ช่วงปีใหม่เลยต้องกลับมาย้ำเตือนเรื่องการจ่ายภาษีอีกครั้ง ซึ่งการจ่ายภาษีน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับการนำ “เงินได้สุทธิ” คูณกับอัตราภาษี หากเงินได้สุทธิน้อย ก็จะทำให้ประหยัดภาษีลงไปได้นั่นเอง แต่การที่จะคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินได้สุทธิ ต้องกลับไปย้อนดูที่สิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงค่าใช้จ่ายซึ่งคิดจากประเภทของเงินได้ วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องรายได้ หรือเงินได้พึงประเมิน ว่าหากคุณทำอาชีพแบบนี้ จะคิดเป็นเงินได้พึงประเมินที่ประเภทไหน แล้วสามารถหักลบค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ก่อนจะนำไปคำนวณภาษี ไปดูกันเลย

ทำไมต้องแบ่งประเภทเงินได้พึงประเมิน?

เหตุผลที่ต้องมีการแบ่งประเภทของเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากการประกอบอาชีพและช่องทางในการหารายได้ของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนทำอาชีพเดียว บางคนมีอาชีพเสริม และแต่ละอาชีพ ก็มีการใช้ต้นทุน รวมถึงความยากง่ายแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องการคำนวณภาษี จึงมีการแบ่งประเภทของเงินได้พึงประเมิน และเกณฑ์หักลบค่าใช้จ่ายของแต่ละอาชีพแตกต่างกันออกไปนั่นเอง

เงินได้พึงประเมินมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

เงินได้พึงประเมินแบ่งออกเป็น 8 ประเภท แต่ละประเภทมีรายละเอียด และนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหักลบและนำไปคำนวณภาษีแตกต่างกัน

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 คือ เงินที่ได้จากการจ้างแรงงาน อย่างเงินเดือนของเหล่าพนักงานออฟฟิศ เงินโบนัส บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือสวัสดิการอื่นๆ ที่ได้รับจากนายจ้าง  

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เช่น เงินได้พึงประเมิน 450,000 บาท 50% คือ 225,000 บาท แต่หักค่าใช้จ่ายได้ตามเพดานสูงสุด 100,000 บาทเท่านั้น

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 คือ ค่าจ้างรับทำงานให้ ค่าทำงานที่ให้เป็นครั้งๆ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า บำเหน็จ บำนาญ โบนัส เบี้ยประชุม ค่ารับรีวิวสินค้า ค่าตอบแทนพิธีกร และค่าอื่นๆ ที่สามารถตีค่าเป็นเงินได้

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

**หากคุณมีทั้งเงินได้ประเภทที่ 1 และเงินได้ประเภทที่ 2 ให้นำมาคิดรวมกัน และหักค่าใช้จ่ายได้ 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เช่น นางสาวเอ ทำงานประจำ (1) มีเงินได้ 300,000 ต่อปี พร้อมกับรับงานรีวิวสินค้า (2) ได้เงินรวม 100,000 ต่อปี รวมแล้วมีเงินได้พึงประเมิน (1+2) 400,000 บาท ซึ่งหักค่าใช้จ่าย 50% เป็นเงิน 200,000 บาทแต่นางสาวเอ จะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดที่ 100,000 บาทเท่านั้น

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 คือ ค่าแห่งกู๊ดวิล (ค่าความนิยม) ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เช่นเงินได้จากงานเพลง งานเขียน ค่าสูตรลับอาหาร เครื่องหมายการค้า ค่าเฟรนไชส์ เป็นต้น

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

**นอกจากนี้เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 ยังรวมถึงเงินได้รายปี ที่ได้รับจากพินัยกรรม นิติกรรม หรือจากการพิพากษาของศาลด้วย แต่ไม่สามารถนำมาคิดรวมเพื่อหักค่าใช้จ่ายได้

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 คือ ดอกเบี้ย เช่น ดอกเบี้ยจากพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล เงินส่วนแบ่งผลกำไร ประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เงินโบนัสที่ได้จากการเป็นผู้ถือหุ้น ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น

**เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 คือ เงินที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ดังนี้

  • เงินค่าเช่าบ้าน อาคาร สิ่งก่อสร้าง แพ หักค่าใช้จ่ายได้ 30% ของเงินได้หรือหักตามจริง
  • เงินค่าเช่ายานพาหนะ หักค่าใช้จ่ายได้ 30% ของเงินได้หรือหักตามจริง
  • เงินค่าเช่าที่ดินที่ใช้ในการทำการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 20% ของเงินได้หรือหักตามจริง
  • เงินค่าเช่าที่ดินที่ไม่ใช่เพื่อการทำการเกษตร หักค่าใช้จ่ายได้ 15% ของเงินได้หรือหักตามจริง
  • เงินค่าเช่าทรัพย์สินอื่นๆ หักค่าใช้จ่ายได้ 10% ของเงินได้หรือหักตามจริง
  • เงินจากการผิดสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขายเงินผ่อน หักค่าใช้จ่ายได้ 20% ของเงินได้หรือหักตามจริง

**หากเลือกวิธีหักตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 คือ ค่าวิชาชีพอิสระ ประกอบไปด้วย 6 อาชีพ ที่กำหนดไว้ และหักค่าใช้จ่ายตามจริงหรือแบบเหมาในอัตราแตกต่างกัน ดังนี้

  • การประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ของรายได้หรือหักตามจริง
  • กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 30% ของรายได้หรือหักตามจริง

**เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 จะมีลักษณะคล้ายกับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 แต่ความแตกต่างคือ จะต้องเป็น 6 อาชีพที่ระบุไว้ รวมถึงเป็นการทำงานที่ได้เงินตามความมากน้อยของเคสงาน ความยากของงาน โดยไม่ได้ทำงานในฐานะลูกจ้าง หรือลูกน้อง

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 คือ เงินที่ได้จากการรับเหมา ซึ่งรวมทั้งเงินค่าแรงและเงินค่าอุปปกรณ์ สัมภาระด้วย อย่างเช่น ค่ารับเหมาก่อสร้าง ค่ารับเหมาทำสินค้าที่นอกเหนือจากที่ทำอยู่แล้วปกติ หรือทำตามแบบที่ลูกค้าต้องการเป็นพิเศษ

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 60% ของเงินได้ หรือหักตามค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งต้องมีหลักฐานแนบ

**ทั้งนี้หากเป็นการรับเหมาทำงานเพียงอย่างเดียวโดยไม่รวมค่าของ อุปกรณ์ หรือสัมภาระ จะไม่นับเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 คือ เงินได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1-7 ซึ่งก็คือเงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง เช่น กำไรจากการขายกองทุนรวม RMF, LTF การขายอสังหาริมทรัพย์ เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ เงินได้จากการเปิดร้านอาหาร เงินจากการทำงานในอุตสาหกรรมบางอย่างเช่น ฟอกหนัง ย่อยหิน การทำน้ำตาล เป็นต้น

**เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ 40%-60% ของเงินได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง อ่านเพิ่มเติม http://www.rd.go.th/publish/5937.0.html

นอกจากเงินได้พึงประเมินทั้ง 8 ประเภทนี้ ยังมีเงินได้อีกหลากหลายประเภท ที่ได้รับการยกเว้นภาษี เช็กได้ที่นี่เลย www.rd.go.th

หมายเหตุ การหักค่าใช้จ่าย แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  • การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา : หักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ โดยไม่สนใจว่าคุณจะมีรายได้ หรือค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
  • การหักค่าใช้จ่ายตามจริง : หักค่าใช้จ่าย โดยคิดจากรายจ่ายจริงที่เสียไปกับการประกอบอาชีพ

ได้ความรู้ในส่วนของเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทกันไปแล้ว ยังไงฤดูเสียภาษีปีนี้ก็อย่าลืมไปเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายกันนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

อัพเดทล่าสุด! วิธีคํานวณภาษี พร้อมรายการลดหย่อนภาษี แบบโพสเดียวจบ!

รายการลดหย่อนภาษี กลุ่มที่1 : ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

รายการลดหย่อนภาษี กลุ่มที่2 : ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกัน

รายการลดหย่อนภาษี กลุ่มที่3 : ค่าลดหย่อนภาษีการลงทุน

รายการลดหย่อนภาษี กลุ่มที่4 : ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

รายการลดหย่อนภาษี กลุ่มที่5 : ลดหย่อนภาษีจากการบริจาค

ที่มา: greedisgoods.com/ itax.in.th/ thaipublica.org/