ในเวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘Clubhouse’ แอปพลิเคชันใหม่มาแรงที่กำลังฮิตติดกระแส และมีคนพูดถึงกันเป็นวงกว้าง วันนี้ OfficeMate จะพาไปดูหน้าตาของแอปฯ Clubhouse พร้อมข้อมูลน่าสนใจ และฟีเจอร์หลักๆ ที่ทำให้ Clubhouse ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก บอกเลยว่าห้ามพลาด..ถ้าอยากคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง! ไปดูกันเลย

Clubhouse คืออะไร?

clubhouse

Clubhouse แอปพลิเคชันใหม่ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 เป็นแพลทฟอร์มที่มีเพียงเสียงพูด ผู้คนภายในแอปฯ สามารถเข้าไปฟังการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือจะสวมบทบาทเป็นผู้สนทนาก็ย่อมได้

โดยหัวข้อการพูดคุยนั้นมีตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจ การเงิน เพลง หนัง ความรัก ไปจนถึงการร้องคาราโอเกะ ซึ่งเราสามารถเลือกได้ตามความสนใจ ภายในห้องสนทนาจะมีเพียงเสียง ไม่มีรูปภาพ ไม่มีวิดีโอใดๆ เหมาะกับคนชอบพูดแต่ไม่ชอบแสดงตัวตน เรียกง่ายๆ ว่า Clubhouse เปรียบเสมือนงานเสวนาขนาดย่อม คล้ายการฟัง Podcast สดๆ หรือชมเดี่ยวไมโครโฟนแบบไม่เห็นหน้านั่นเอง

ทำอย่างไรถึงจะใช้งาน Clubhouse กับเขาได้บ้าง?

อยากเล่น Clubhouse เริ่มต้นง่ายๆ เพียงโหลดแอปฯ (ซึ่งตอนนี้ Clubhouse มีให้ใช้บริการแค่ใน IOS เท่านั้น) แต่ Clubhouse นั้นต่างจากแอปฯ อื่นๆ ตรงที่ดาวน์โหลดมาแล้ว ใช่จะใช้งานได้ทันที เพราะหากไม่มีคำเชิญจากเพื่อนแอปฯ นี้ก็เปล่าประโยชน์…

การจะเข้าไปเล่น Clubhouse เราต้องได้รับคำเชิญจากเพื่อนๆ ของเราที่เล่น Clubhouse อยู่แล้ว และเพื่อนของเราก็มีโควต้าในการเชิญเพื่อนให้มาร่วมเล่น Clubhouse ได้เพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งการจะเชิญเพื่อนมาร่วมเล่นจำเป็นต้องมี Contact หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกัน ถือเป็นแอปฯ แห่งคอมมูนิตี้ที่ค่อนข้าง Exclusive สงวนคำเชิญเอาไว้ให้ส่งบัตรเชิญได้เฉพาะคนที่รู้จักหรือสนิทกันจริงๆ 

สำหรับใครที่อยากเล่น Clubhouse ก็เตรียมดาวน์โหลดแอปฯ ลงทะเบียนผู้ใช้ให้เสร็จเรียบร้อย แล้วสะกิดบอกเพื่อนสนิทให้ส่งบัตรเชิญเข้าร่วม Clubhouse มาได้เลย

ใน Clubhouse เล่นอะไรได้บ้าง?

เมื่อได้รับคำเชิญจากเพื่อน ลงทะเบียน และสร้างโปรไฟล์ Clubhouse ของตัวเองแล้วเรียบร้อย เราสามารถหาเพื่อนเพื่อกดติดตามได้จาก Contact เบอร์มือถือ ทั้งยังสามารถเลือกติดตามผู้คนที่น่าสนใจได้จากคำแนะนำของ Clubhouse ซึ่งจะเลือกมาจากความชอบส่วนตัวของเราที่ Clubhouse เก็บข้อมูลเอาไว้ตอนเริ่มต้นนั่นเอง

ภายใน Clubhouse เราสามารถเล่นได้ 2 บทบาท คือ ‘เล่นเป็นผู้พูด’ และ ‘เล่นเป็นผู้ฟัง’

เล่นเป็นผู้พูด

สำหรับคนสวมบทบาทผู้พูด คุณสามารถสร้างห้องสนทนาของตัวเอง แล้วตั้งประเด็นที่จะพูดคุยกันในห้องนี้ได้ ซึ่งประเด็นนั้นก็เลือกได้ตามใจชอบ (แต่ควรระวังประเด็นที่อ่อนไหว หรือประเด็นผิดกฎหมาย) เช่น สร้างห้องสำหรับพูดคุยเรื่องกองทุนรวม เล่าเรื่องผี หรือสร้างห้องสำหรับแชร์ประสบการณ์อกหัก เป็นต้น ผู้สร้างห้องสามารถเลือกได้ว่าจะให้ตัวเองเป็นผู้พูดเพียงคนเดียวแบบเดี่ยวไมโครโฟน หรือให้คนอื่นๆ มาแลกเปลี่ยน Discuss ในประเด็นนั้นๆ ซึ่งห้องสนทนาที่ผู้พูดสร้างขึ้น มีให้เลือก 3 แบบ คือ

  • ห้อง Open : ห้องที่เปิดให้ทุกคนใน Clubhouse สามารถเข้ามาฟัง หรือมาร่วมพูดคุยถกประเด็นกันได้
  • ห้อง Social : ห้องที่สงวนไว้ให้เฉพาะคนที่มาติดตามเรา (Follower) เท่านั้น 
  • ห้อง Closed : ห้องส่วนตัวสุดเอกซ์คลูซีพ คนที่จะเข้าห้องนี้ได้ มีเพียงคนที่เราเชิญเท่านั้น

เล่นเป็นผู้ฟัง

สำหรับคนไม่ชอบพูด แต่ชอบฟัง คุณสามารถกดเข้าห้องต่างๆ เพื่อฟังประเด็นการพูดคุยที่ตัวเองสนใจได้ และถ้าฟังแล้วมีความคิดเห็นอยากร่วมแชร์ ก็กดปุ่ม ‘ยกมือ’ เพื่อรอให้เจ้าของห้องอนุญาตให้เราพูด หรือถ้าฟังแล้วรู้สึกเบื่อ ไม่น่าสนใจ ก็กดปุ่ม ‘Leave quietly’ เพื่อเฟดตัวออกจากห้องไปเงียบๆ แล้วหาห้องใหม่ที่น่าสนใจกว่าแทน

ความพิเศษที่ทำให้ Clubhouse ได้รับความนิยมในเวลาเพียงไม่นาน

นอกจากเป็นแอปฯ ที่ให้ความบันเทิงในรูปแบบใหม่แล้ว Clubhouse ยังดึงให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น จากที่ต้องถ่อไปงานเสวนาหรือซื้อบัตรค่าเข้าเพื่อฟังบุคคลที่เราชื่นชอบ ตอนนี้ก็สามารถหาฟังได้ใน Clubhouse แบบสดๆ (ในกรณีที่คนดังคนนั้นใช้ Clubhouse) ซึ่งตอนนี้ Clubhouse ในไทยก็มีคนดังมากมาย ตั้งแต่ดารา นักธุรกิจ ไปจนถึงนักการเมือง เข้ามาร่วมเล่น ร่วมแชร์ประเด็นต่างๆ กันมากมาย การพูดคุยใน Clubhouse ยังเป็นส่วนตัว ไม่ถูกบันทึก ไม่มีการอัดเสียง และไม่มีให้ดูย้อนหลัง หากอยากฟังก็ต้องฟังสด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบเรียลไทม์ ซึ่งถือว่าน่าสนใจ เพราะในชีวิตประจำวัน การจะได้พูดคุยกับคนมีชื่อเสียง หรือคนแปลกหน้าในประเด็นที่สนใจร่วมกันนั้นทำได้ยาก

อีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ Clubhouse ได้รับความสนใจ มีคนสร้างห้องพูดคุยถกประเด็นกันเป็นจำนวนมาก ก็คือ การพูดคุยที่ปราศจากภาพเคลื่อนไหว เพียงคุณเตรียมหัวข้อสนทนา ไม่จำเป็นต้องจัดแสง เตรียมฉาก สร้างพร็อบ หรือแต่งองค์ทรงเครื่องใดๆ ความสนใจของผู้ฟังจะไปจดจ่ออยู่กับเนื้อหาและความบันเทิงที่ผู้พูดสร้างขึ้น ตัดสิ่งที่อาจเบี่ยงเบนความสนใจออก ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับประเด็นต่างๆ ในห้องพูดคุยได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยให้คนที่อยากแสดงความคิดเห็นแต่ไม่ค่อยมีความมั่นใจ หรือประหม่าเมื่อต้องพูดต่อหน้าคนมากๆ กล้าพูดคุยและกล้าออกความเห็นมากขึ้นอีกด้วย

อ่านมาจนถึงตรงนี้ เริ่มสนใจอยากเล่น Clubhouse กันบ้างหรือยัง? สำหรับใครที่สนใจเข้าไปดาวน์โหลดแอปฯ Clubhouse (เฉพาะ IOS) ได้เลยที่ joinclubhouse แล้วอย่าลืมส่งคำเชิญ เพื่อแบ่งปันอะไรดีๆ ให้เพื่อนคนสนิทด้วยนะคะ จะได้คุยกันรู้เรื่อง!

clubhouse
คุณมีบัตรเชิญ 2 ใบ อย่าลืมส่งบัตรเชิญชวนเพื่อนสนิทเข้ามาเล่น Clubhouse!

ติดตามบทความอื่นๆ จาก OfficeMate ได้ที่ www.officemate.co.th/blog/ หรือช้อปสินค้าคุณภาพในราคาประหยัด พร้อมบริการส่งฟรีทั่วไทยเมื่อช้อปครบ 499 ได้ที่ เว็บไซต์ OfficeMate

ขอบคุณข้อมูลจาก : thematter / specphone