ช้อนคู่กับส้อมฉันใด ออฟฟิศซินโดรมก็คู่กับมนุษย์เงินเดือนฉันนั้น เพราะมนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานบริษัทส่วนใหญ่มักต้องนั่งหลังคดหลังแข็งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการนั่งติดต่อกันนานหลายชั่วโมงนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับหลัง ไหล่ และคอที่เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการปวด และหากไม่ได้รับการรักษา ปล่อยไว้จนเรื้อรัง อาการจะรุนแรงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้
ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร? ทำไมถึงต้องรีบรักษา
ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คืออาการปวดกล้ามเนื้อที่มีสาเหตุมาจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน เช่นการนั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ โดยไม่ขยับหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งนอกจากอาการปวดแล้ว ยังทำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขนหรือมือ เพราะเส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง แม้อาการในระยะแรกจะไม่รุนแรงมาก ดูเหมือนเป็นการปวดหลังธรรมดาทั่วไป แต่หากปล่อยไว้นานๆ โดยไม่รักษาอาการอาจรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคปวดหลังเรื้อรัง และยังเสี่ยงต่อการเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและโรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) ได้อีกด้วย ดังนั้นใครที่กำลังมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ รวมถึงปวดหัวมานาน และสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอาการและรับการรักษาอย่างถูกต้อง แต่ถ้าหากใครที่เพิ่งเริ่มมีอาการหรืออยากป้องกันตัวเองจากออฟฟิศซินโดรม ก็สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยตัวเองดังวิธีต่อไปนี้ค่ะ
2 ข้อต้องทำ ถ้าไม่อยากเป็นออฟฟิศซินโดรม
1.ปรับจากท่านั่ง นั่งยังไงให้ห่างไกลจากออฟฟิศซินโดรม
การนั่งทำงานที่ถูกต้อง จะต้องนั่งหลังตรง ไม่โก่งหรือค่อม และนั่งเต็มก้น ให้สะโพกและหลังชิดกับพนักพิงเก้าอี้ และวางเท้าให้ราบไปกับพื้นทั้งสองข้าง ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง เพราะการนั่งไขว่ห้างจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก นอกจากท่านั่ง คอมพิวเตอร์ที่ใช้ก็ควรปรับให้หน้าจออยู่ในระดับสายตา ไม่ต้องเงยหรือก้มขณะที่มองหน้าจอ รวมถึงแป้นพิมพ์ควรอยู่ในระดับความสูงที่พอดีกับข้อศอกและข้อมือ จะช่วยลดอาการตึงหรือเมื่อยล้ากล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ได้ เทคนิคเล็กๆ อีกอย่างสำหรับท่านั่งพิมพ์งานคือ ให้เก็บข้อศอกเอาไว้ใกล้ตัว จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อช่วงหัวไหล่และแขนได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ไม่ควรนั่งทำงานติดต่อกันนานๆ ควรลุกขึ้นเดินหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายทุกๆ 45 นาที ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและลดอาการปวดเกร็งลงได้
2.เปลี่ยนเก้าอี้ใหม่แก้ไขอาการออฟฟิศซินโดรม
นอกจากท่านั่งที่ต้องนั่งให้ถูก เก้าอี้สำหรับนั่งทำงานหรือเก้าอี้สำนักงานก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เรานั่งได้สบายและไม่ปวดคอหรือหลัง หากเลือกเก้าอี้ผิด ไม่เหมาะสมกับสรีระ อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น การปวดเมื่อยคอและหลัง โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รวมถึงอาการออฟฟิศซินโดรม
ปัจจุบันเก้าอี้สำนักงานมีให้เลือกซื้อเลือกใช้มากมายหลายแบบ การเลือกเก้าอี้นั่งทำงานให้เหมาะสม ควรพิจารณาจากคุณสมบัติเหล่านี้
เก้าอี้ต้องมีที่พักแขน
เก้าอี้หลายรุ่นออกแบบมาโดยไม่มีที่พักแขน ซึ่งอาจเหมาะกับการเป็นเก้าอี้สำหรับวางตกแต่งห้องเพื่อความสวยงาม มินิมอล แต่ไม่เหมาะสำหรับการเป็นเก้าอี้นั่งทำงาน เก้าอี้นั่งทำงานที่ดีจะต้องมีที่พักแขน และที่พักแขนควรปรับระดับความสูงต่ำได้ เพื่อปรับให้อยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน เมื่อการวางพักแขนบนเก้าอี้เป็นไปอย่างธรรมชาติและสบาย จะช่วยลดการเกร็งช่วงไหล่ แขน และข้อพับได้
เก้าอี้ต้องมีพนักพิง
ข้อห้ามสำคัญในการเลือกซื้อเก้าอี้สำนักงาน คือ ห้ามซื้อเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิงโดยเด็ดขาด และพนักพิงนั้นต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม เก้าอี้ทำงานที่ดีควรมีพนักพิงที่เอนไปด้านหลังเล็กน้อย ประมาณ 100-130 องศา ซึ่งเป็นมุมเอนที่พอดีไม่ดันช่วงหลังของผู้นั่งมากเกินไป และส่วนสูงของพนักพิงที่เหมาะสม ไม่ควรสูงเกินไหล่ของผู้นั่งแต่อาจต่ำกว่าไหล่เพียงเล็กน้อยได้
สามารถปรับระดับความสูงต่ำได้
เนื่องจากส่วนสูงของแต่ละคนไม่เท่ากัน เก้าอี้ที่สามารถปรับระดับความสูงต่ำได้จึงตอบโจทย์การเป็นเก้าอี้ที่ดีสำหรับใช้ในสำนักงานมากกว่า โดยทั่วไปความสูงของเก้าที่เหมาะสมกับการนั่งทำงานจะอยู่ที่ประมาณ 16-21 นิ้ว แต่เพื่อความชัวร์ ก่อนเลือกซื้อเก้าอี้ให้ลองนั่งและปรับระดับความสูงให้อยู่ในระดับที่สามารถวางแขนบนโต๊ะทำงานได้อย่างสบาย เท้ายังติดพื้น และเข่าสูงกว่าสะโพกเพียงเล็กน้อย
เบาะต้องไม่นุ่มเกินจนเป็นแอ่ง
เก้าอี้ที่เบาะนุ่มเกินไป เมื่อต้องนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้กระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานผิดรูปได้ เบาะเก้าอี้ควรนุ่มแต่พอดีเพื่อรองรับแรงกดทับในขณะนั่ง เพื่อไม่ให้เจ็บแผ่นหลังเวลาต้องนั่งนานๆ ขนาดความกว้างของเบาะก็ไม่ควรแคบจนผู้นั่งอึดอัดไม่สามารถขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถได้
เสริมด้วยหมอนหรือเบาะหนุนหลัง
สำหรับคนเป็นพนักงาน หลายคนอาจประสบปัญหากับเก้าอี้ไม่พอดีกับสรีระ และก็ไม่สามารถไปเลือกซื้อเก้าอี้มาใช้เองได้ ถ้าหากไม่สามารถหาเก้าอี้ทำงานที่เหมาะสม ให้หาหมอนหรือเบาะหนุนหลังมาใช้แทน เบาะหนุนหลังจะช่วยรับน้ำหนักบริเวณกระดูกหลังส่วนล่าง ลดอาการบาดเจ็บจากการนั่งนานๆ ได้ เก้าอี้ที่ควรมีเบาะหนุนหลังมาเสริม ให้ลองนั่งตัวตรงหลังพิงชิดพนักเก้าอี้ หากยังมีช่องว่างระหว่างหลังและพนักพิงอยู่ ควรรีบหาเบาะรองหลังดีๆ ซักอันมาใช้ ก่อนจะต้องเผชิญกับอาการปวดหลังจนสายเกินแก้
ช้อปเก้าอี้เพื่อสุขภาพ เก้าอี้สำนักงาน เก้าอี้ผู้บริหาร และเก้าอี้รูปแบบอื่นๆ ได้เลยที่เว็บไซต์ Officemate