สินค้าราคาถูกสามารถเพิ่ม Demand (ความต้องการ) ในการซื้อได้จริง แต่แน่นอนว่าการจะตั้งราคาสินค้าซัก 1 ชิ้น มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเอามาคำนึงร่วมด้วย หลักๆ คือ เรื่องของต้นทุน บวกลบคูณหารแล้ว ราคาที่ขายต้องไม่ทำให้ขาดทุน ดังนั้น สินค้าบางชิ้นที่ต้นทุนสูงๆ จึงมีราคาแพงไปโดยปริยาย ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าพยายามสรรหาตัวเลือกอื่นๆ ที่ถูกกว่าและใช้แทนกันได้ 

แต่วันนี้ OfficeMate มีเทคนิคการตั้งราคาสินค้า โดยใช้หลักการทางจิตวิทยา ไม่จำเป็นต้องลดสเปกสินค้า ไม่ต้องลดปริมาณ แม้สินค้าของคุณจะมีราคาแพง แต่ลูกค้าจะรู้สึกว่า ‘ถูก’ เอาล่ะค่ะ ทำยังไง? ไปดูกันเลย

ตั้งราคาสินค้าลงท้ายด้วยเลข ‘9’

ตั้งราคาสินค้าลงท้ายด้วยเลข ‘9’

สมองของมนุษย์เรียงลำดับการรับรู้จากซ้ายไปขวา การตั้งราคาสินค้าลงท้ายด้วยเลข ‘9’ จึงเป็นเทคนิคทำให้สินค้าดูมีราคาถูก โดยทำให้ตัวเลขที่อยู่ด้านหน้ามีค่าน้อยลง เช่น 499 เทียบกับ 500 แม้ราคาที่ต่างกันเพียง 1 บาท แต่สมองจะจำว่า เลข 4 นั้น มีค่าน้อยกว่า เลข 5 การตั้งราคาแบบนี้จึงสามารถทำให้สินค้าชิ้นละ 500 กลายเป็นเพียงสินค้าชิ้นละสี่ร้อยกว่าบาทได้ไปโดยปริยาย   

ตั้งราคาสินค้าลงท้ายด้วยเลข 0 หรือ 5

สินค้าที่มีราคาลงท้ายด้วย เลข 0 หรือเลข 5 จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อของจากเราได้มากขึ้น นั่นเป็นเพราะ ราคาสินค้าที่เอาไปคำนวณได้ง่ายกว่า หากต้องการซื้อหลายๆ ชิ้น ก็สามารถคำนวณได้เบ็ดเสร็จในใจ ไม่ต้องกดเครื่องคิดเลข ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น เหมาะกับสินค้าที่สามารถซื้อได้ครั้งละหลายๆ ชิ้น อย่างสินค้าในร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายของชำ ที่ลูกค้าเข้ามาแล้วซื้อของมากกว่า 1 ชิ้น หรือมากกว่า 1 อย่าง          

ตั้งราคาสินค้าแบบหลอกล่อ

การตั้งราคาสินค้าแบบหลอกล่อไม่ได้ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าราคาถูกไปซะทีเดียว แต่จะมีผลเรื่องการตัดสินใจในส่วนของความคุ้มค่า เทคนิคนี้เรียกว่า Decoy Pricing เป็นเทคนิคการตั้งราคาให้อีกราคาหนึ่งดูน่าสนใจและคุ้มค่าที่จะซื้อมากกว่า เช่น ร้านขายกาแฟ แก้วเล็ก ราคา 30 บาท แก้วใหญ่ ราคา 35 บาท ลูกค้าจะคิดได้ว่า เพิ่มเงินอีกเพียง 5 บาท ก็ได้กาแฟแก้วใหญ่ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ายอมจ่ายเงินให้เราในราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง

ตั้งราคาสินค้าแบบหลอกล่อ

ทั้งยังสามารถใช้ในกรณีที่เราอยากชักนำหรือจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าในราคาที่เราต้องการ เช่น เราอยากขายชานมไข่มุกแก้วใหญ่ในราคา 99 บาท หลักการตั้งราคา คือ ชานมไข่มุกแก้วเล็ก ราคา 59 บาท แก้วกลาง ราคา 89 บาท และแก้วใหญ่ ราคา 99 บาท ชานมไข่มุกแก้วกลาง 89 บาท จะทำหน้าที่หลอกล่อลูกค้าให้ยอมจ่ายแพงกว่า 10 บาท เพื่อซื้อแก้วใหญ่ เพราะรู้สึกว่าคุ้มค่ามากกว่า ในราคาที่ต่างกันนิดเดียว 

ตั้งราคาสินค้าแบบซื้อเยอะถูกกว่า

ยิ่งซื้อเยอะยิ่งถูก เป็นอีกเทคนิคที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า เช่น ถุงเท้าคละแบบ 5 คู่ร้อย ส่วนคู่เดียว 25 บาท ลูกค้าจะทำการคำนวณในหัวอัตโนมัติทันทีว่า 25 x 5 เท่ากับ 125 ดังนั้น การซื้อแบบราคา 5 คู่ร้อยเดียว ย่อมถูกกว่ามาก ทั้งยังเลือกแบบได้หลากหลาย เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยเพิ่มปริมาณการซื้อในแต่ละครั้งได้ นอกจากนั้น หากมีร้านอื่นที่ขายถุงเท้าในราคาคู่ละ 25 บาท ลูกค้าก็จะรู้สึกว่าร้านเราขายถูกกว่า ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าจากร้านเรานั่นเองค่ะ

กลยุทธ์นี้เหมาะสำหรับใช้ตั้งราคาสินค้าชนิดเดียวกันแต่มีหลายแบบให้เลือก เช่น ถุงเท้า ขนมปิ๊บแบ่งขาย แฮนด์ครีม เครื่องเขียน ฯลฯ อย่าลืมเขียนราคาเปรียบเทียบให้ลูกค้าเห็นชัดๆ ด้วยนะคะ    

ตั้งราคาสินค้าแยกกับค่าจัดส่ง

กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้าสำหรับร้านค้าออนไลน์มีอยู่มากมายหลากหลาย ที่เห็นได้บ่อยๆ คือ ‘การคิดราคาสินค้าแบบรวมส่ง’ กับ ‘ส่งฟรี’ แม้จะดูเหมือนเป็นกลยุทธ์หลอกล่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าถูกลงเพราะไม่ต้องเสียค่าส่ง แต่ถ้าเทียบกับการบอกราคา โดยแยกค่าส่งต่างหาก ลูกค้าจะสามารถนำราคาสินค้าเพียวๆ ที่แยกค่าส่งนี้ ไปเปรียบเทียบกับราคาของร้านอื่นๆ เพื่อหาร้านที่ราคาถูกกว่าได้ทันที หากเราตั้งราคาสินค้าแบบรวมส่ง หรือส่งฟรี ราคาที่รวมส่งแล้วนี้จะถูกหยิบนำไปเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วจะถูกมองว่าแพงกว่าราคาสินค้าแบบเพียวๆ เช่น 

  • ร้าน ก. ขายสินค้า B ราคา 130 บาท แยกค่าส่ง 
  • ร้าน ข. ขายสินค้า B ราคา 200 บาทรวมส่ง 
  • ร้าน ค. ขายสินค้า B ราคา 170 บาท ส่งฟรี 

ราคาที่ถูกนำไปเปรียบเทียบ คือ 130 200 และ 170 แน่นอนว่าในแว้บแรกราคาที่ถูกที่สุด คือ 130 บาท และหากค่าส่งที่รวมในภายหลังแล้วไม่เกิน 200 บาท ลูกค้าก็จะยิ่งพอใจและรู้สึกว่าคุ้มค่ามากกว่าอีกด้วย 

ทริคการทำป้ายราคาสินค้า

นอกจากการตั้งราคาสินค้า การทำป้ายแสดงราคาสินค้า หรือทำอาร์ตเวิร์คสำหรับโปรโมตสินค้าและโปรโมชั่น ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อเช่นกัน วันนี้ OfficeMate มี 3 เทคนิคง่ายๆ มาแชร์กัน ได้แก่

ทริคการทำป้ายราคาสินค้า
  • ใช้สีแดง สีแดงเป็นสีที่ช่วยกระตุ้น เราจึงเห็นได้บ่อยๆ ว่าร้านค้ามักใช้ป้ายสีแดงสำหรับสินค้าที่ลดราคา หรือสินค้าราคาพิเศษ คนทั่วไปจึงมักมีภาพจำและเชื่อมโยงจากประสบการณ์ว่าป้ายสีแดง = ราคาถูก 
  • กำจัดเครื่องหมายคอมม่า (,) ทิ้งไป เครื่องหมายคอมม่ามีผลต่อจำนวนพยางค์และการอ่านออกเสียง เช่น 1,399 อ่านว่า หนึ่ง-พัน-สาม-ร้อย-เก้า-สิบ-เก้า แต่ 1399 จะอ่านว่า หนึ่ง-สาม-เก้า-เก้า เป็นเทคนิคลดจำนวนพยางค์ และทำให้จำนวนหลักของราคาดูน้อยลง ลูกค้าจึงจะรู้สึกว่าราคาถูกนั่นเอง  
  • ลดขนาดให้ฟอนต์ เมื่อขนาดฟอนต์เล็กลง การรับรู้ด้านราคาก็จะลดลงไป อีกเทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าราคาถูกลงแบบไม่รู้ตัว    

ทั้งนี้ทั้งนั้น การตั้งราคาสินค้าโดยยึดให้ถูกเข้าไว้ อาจทำให้ลูกค้ามองสินค้าและร้านของเราในแง่ลบได้  ดังนั้น OfficeMate แนะนำให้พ่อค้าแม่ค้าทุกคน ทำความรู้จักกับสินค้าของตัวเองอย่างละเอียด รู้ต้นทุน รู้ Position ของร้าน แล้วตั้งราคาสินค้าตามความเหมาะสม แล้วค่อยเสริมด้วยกลยุทธ์การตั้งราคาทางจิตวิทยาเข้าไป รับรองว่าลูกค้าติดหนึบเพราะรู้สึกว่าหาของถูกและคุ้มค่ากว่านี้ที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว!

สนใจเทคนิคอื่นๆ ในการทำธุรกิจ อ่านต่อได้ที่ bit.ly/3zCnukW ส่วนพ่อค้าแม่ค้าและผู้ประกอบการ ที่มองหาวัตถุดิบหรือไอเทมไปรันธุรกิจ เรามีสินค้าพร้อมตอบโจทย์ให้ทุกธุรกิจของคุณดำเนินต่อได้อย่างราบรื่น ด้วยส่วนลดและโปรโมชั่นต่างๆ มากมาย พร้อมบริการส่งฟรีเมื่อช้อปครบ 499.- และบริการเครดิตเทอมซื้อก่อนจ่ายทีหลัง นานสูงสุด 30 วัน คลิกเลยที่เว็บไซต์ OfficeMate สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1281

ขอบคุณข้อมูลจาก
www.socialmediatoday.com
adaddictth.com
thegrowthmaster.com