หากองค์กรของคุณมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนพนักงานเป็นว่าเล่น ใครๆ เข้ามาแล้วจากไปไม่ว่าจะฉุดยังไง ก็รั้งไม่อยู่ อาจเป็นไปได้ว่า องค์กรของคุณกำลังกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ ‘Brownout Syndrome’

Brownout Syndrome คืออะไร?

หลายคนคงรู้จักกับอาการ Burnout ที่เกิดจากการทำงานหนักจนแทบพยุงร่างไม่ไหว เครียดติดต่อกันเป็นเวลานาน จนไฟมอดไม่อยากทำงานอีกต่อไป แต่กับ Brownout นั้น เป็นอาการของคนที่ยังมีไฟในงานที่ทำ แต่ดันหมดใจที่จะไปต่อกับองค์กร

Burnout = หมดไฟ แต่ Brownout = หมดใจ

ผลสำรวจจากบริษัทให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผู้บริหาร (Corporate Balance Concepts) พบว่า พนักงานลาออกเพราะมีอาการหมดไฟ (Burnout) เพียง 5% แต่พนักงานกว่า 40% ตัดสินใจลาออกเพราะหมดใจในองค์กร (Brownout)

อ่านบทความ Burnout Syndrome วิธีรับมือกับ “ภาวะหมดไฟ” ทำความเข้าใจก่อน Burnout!

Brownout Syndrown อาการหมดใจในองค์กรเป็นแบบไหน?

หากพนักงาน หรือลูกจ้างมีอาการเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจกำลังหมดใจ

  • เริ่มไม่กระตือรือร้นในคำสั่งของหัวหน้า
  • เริ่มปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา หรืองานด่วนที่เข้ามาในวันหยุด
  • เริ่มไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ ในองค์กร
  • เริ่มออกห่างจากสังคมเพื่อนร่วมงาน  
  • เริ่มโทรม เซื่องซึม และป่วยบ่อย  

แต่อาการหมดใจนั้นสังเกตได้ยาก บางคนอาจไม่แสดงให้รับรู้ ไม่มีการพูดคุย ไม่มีสัญญาณเตือน กว่าที่คนเป็นหัวหน้าจะรู้ตัวก็เข้าสู่ช่วงฟางเส้นสุดท้าย หรือรู้ตัวอีกทีก็ตอนพนักงานยื่นใบลาออกไปซะแล้ว

เพื่อแก้ปัญหาและรับมือให้ทันถ่วงที ไปดูกันว่าสาเหตุอะไรบ้าง? ที่ทำให้พนักงานหมดใจที่จะทำงานกับองค์กร

สาเหตุอะไรที่ทำให้พนักงานหมดใจในองค์กร (Brownout Syndrome)

  • กฎระเบียบในองค์กรที่จุกจิก และไม่เป็นธรรม

แม้การอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องการกฎเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่กฎที่จุกจิกและไม่มีความยืดหยุ่นจะทำให้พนักงานกดดัน รู้สึกโดนควบคุมมากเกินไป และเกิดความอึดอัดใจได้ รวมถึงความไม่เป็นธรรม อย่างการยืดหยุ่นกฎระเบียบให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งความไม่ยุติธรรมนี้ เป็นตัวสร้างอคติและความบาดหมางชั้นดีในองค์กร 

แก้ยังไงดี? : กฎในองค์กรที่สร้างขึ้นควรใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ให้พนักงานบางกลุ่มรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม รวมถึงกฎแต่ละข้อควรมีความยืดหยุนได้ตามสถานการณ์ เช่น เข้าสายเกิน 15 นาที หักเงิน แต่ถ้าหากเป็นเช้าวันฝนตกรถติดก็หยวนให้ได้ เป็นต้น

  • ทำได้มากกว่า แต่ผลตอบแทนเสมอกัน

สาเหตุหลักที่ทำให้คนเก่งๆ ทยอยออกจากองค์กร คือ การไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า หนำซ้ำยังได้พอๆ กับคนที่ทำงานแบบขอไปที สิ่งนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า แล้วจะทำดีไปทำไม? / ทำดีแค่ไหนก็เสมอตัว / ไม่ต้องทำงานเยอะก็ได้ผลตอบแทนอยู่ดี? 

นอกจากจะได้ผลตอบแทนเท่าๆ กันแล้ว บางบริษัทยังไม่มีการลงโทษ ตักเตือน หรือจัดการกับคนเหล่านั้น บวกกับคนที่ตั้งใจทำงาน ก็ไม่เคยได้รับรางวัล ปันผล หรือคำชมใดๆ หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ พนักงานที่ตั้งใจทำงานอาจเริ่มหมดใจ และเริ่มมองหาองค์กรใหม่ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงแรงมากกว่า

แก้ยังไงดี? : ประเมินผลงานตามความจริง ให้ปันผล เลื่อนขั้น หรือกล่าวคำชมกับพนักงานที่ตั้งใจและทำผลงานได้ดี ให้พนักงานได้เติบโต ไม่หยุดอยู่กับที่ รู้สึกว่าการลงแรงนั้นมีความหมาย ช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงานได้  

  • หัวหน้างานเอาแต่ใจ ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์

คนเป็นหัวหน้างาน นอกจากเก่งเรื่องงานแล้ว ยังต้องมีความเป็นมนุษย์สูง หลายๆ องค์กรที่พนักงานลาออกบ่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากความเอาแต่ใจของหัวหน้า อีโก้ที่สูงลิ่ว ไม่เปิดรับความเห็นต่าง ไม่ฟังเหตุผล ขาดความเห็นใจ ไม่ยอมรับผิด เอาแน่เอานอนไม่ได้ ลำเอียง และอีกมากมาย พนักงานหลายคนจึงขอบาย ไม่อยากไปรองรับอารมณ์ และพลังงานลบๆ อีกต่อไป  

แก้ยังไงดี? : หากองค์กรไหนที่มีคนในทีมลาออกเป็นว่าเล่น บางคนเข้ามาได้ไม่ทันไรก็ชิ่งหนี อาจต้องเริ่มหันมาโฟกัสที่ตัวของหัวหน้าทีม ดูการทำงาน การบริหารงานลูกน้อง เพื่อเปลี่ยนทัศนคติ และปรับพฤติกรรม เพราะหากปล่อยไว้ คงไม่มีใครอยากสมัครเข้ามาร่วมทีมอีกแน่นอน 

  • เป้าหมายในการทำงานไม่ชัดเจน

บางองค์กรสั่งงานแล้วจบ กำหนดเพียงเดดไลน์ แต่ไม่ยอมบอกว่างานนี้ทำไปเพื่ออะไร หรืองานนี้จะส่งผลอย่างไรต่อองค์กร? เมื่อไม่เห็นเป้าหมายของงานที่ทำ พนักงานหลายคนจึงเริ่มไม่อิน(หมดใจ) เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีประโยชน์ หรือมีคุณค่ากับองค์กรมากน้อยแค่ไหน? ทำแล้วได้อะไร? หากไม่ทำจะส่งผลอะไรหรือไม่? จำเป็นต้องเรามั้ย..หรือใครๆ ก็ทำงานนี้ได้? เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ลาออกกันมากนั่นเอง

แก้ยังไงดี? : แน่นอนว่าทุกๆ องค์กรย่อมมีเป้าหมายในการเติบโต แต่อย่าลืมสื่อสารเป้าหมายเหล่านั้นให้พนักงานได้รับรู้ บอกให้พนักงานรู้ว่างานที่ทำจะส่งผลอะไรต่อองค์กร เช่น เป้าหมายคือการเพิ่มยอดขาย หากทำงานนี้ได้สำเร็จ ก็จะช่วยให้องค์กรได้กำไรเพิ่มขึ้น เมื่อเป้าหมายการทำงานชัดเจน และพนักงานสามารถทำได้ตามเป้า พวกเขาก็จะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองที่มีต่อองค์กร

Brownout Syndrome เรียกว่าเป็นภัยเงียบที่องค์กรต้องหมั่นเฝ้าระวัง หากคุณพบว่าองค์กรของคุณเริ่มมีพนักงานลาออกบ่อยๆ Turnover rate สูง อย่าลืมหาสาเหตุและแก้ไขให้ตรงจุด ไม่อย่างนั้น นอกจากจะเสียคนเก่งๆ ไปด้วยความหมดใจที่รั้งเอาไว้ได้ยาก อาจส่งผลไปถึงชื่อเสียงที่ทำให้ไม่มีใครอยากสมัครเข้ามาทำงานด้วยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
smethailandclub
blog.jobthai.com
unlockmen