การจองชื่อบริษัท เป็นหนึ่งในขั้นตอนจดทะเบียนบริษัท ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก่อนจะไปเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนบริษัทได้ หลายๆ คนที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง แล้วอยากจะไปจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลให้เป็นกิจจะลักษณะ วันนี้ OfficeMate มีข้อมูลการจองชื่อบริษัท และเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ช่วยตั้งชื่อบริษัทให้ไม่ซ้ำ จองง่าย และถูกกฎหมาย ไปลุยกันเลย!

ทำไมต้องจองชื่อบริษัท?

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังจะเป็นผู้ประกอบการ หรือมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แนะนำให้ไปจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลเพื่อรับผลประโยชน์ในด้านภาษี และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ ซึ่งอย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ในขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท จะต้องมีการจองชื่อบริษัท นั่นก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ประกอบการคนอื่นๆ นำชื่อบริษัทของคุณไปใช้ซ้ำ ทั้งยังเป็นการเช็คว่าชื่อบริษัทของคุณนั้น มีคนอื่นๆ ใช้ไปแล้วหรือยัง ถ้าชื่อบริษัทซ้ำกับธุรกิจอื่นที่มีการจดทะเบียนบริษัทเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว ชื่อนั้นก็จะไม่สามารถใช้ได้ตามเงื่อนไขที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดไว้เกี่ยวกับการตั้งชื่อบริษัท คือ

  1. ชื่อที่จะใช้จดทะเบียนบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ต้องไม่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกับบริษัท/ธุรกิจอื่นๆ ที่ได้จองชื่อและจดทะเบียนบริษัทเอาไว้ก่อนหน้า 
  2. ชื่อบริษัทต้องไม่ขัดต่อนโยบายของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีงาม 
  3. ชื่อบริษัทภาษาต่างประเทศ ต้องมีความหมายหรือออกเสียงตรงกับชื่อภาษาไทย เช่น OfficeMate ออกเสียงว่า ออฟฟิศเมท เป็นต้น 

ขั้นตอนการจองชื่อบริษัทออนไลน์แบบละเอียดยิบ!

ขั้นตอนการจองชื่อบริษัทที่เรานำมาฝากนี้ เป็นการจองชื่อในกรณีที่คุณต้องการไปยื่นเอกสารประกอบการจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเอง (เอกสารแบบกระดาษ) ดังนั้น คุณจะต้องดำเนินการจองชื่อบริษัทในระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้เสร็จสิ้นก่อน

สิ่งที่ต้องเตรียมประกอบการจองชื่อบริษัท 

  • ข้อมูลที่อยู่ตามบัตรประชาชน ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล
  • บัตรประชาชน
  • ชื่อบริษัทภาษาไทย และภาษาอังกฤษ อาจเตรียมเอาไว้เผื่อซ้ำประมาณ 1-3 ชื่อ
  1. ขั้นตอนแรกเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า https://www.dbd.go.th/ 
  2. ทำการสมัครสมาชิก โดยกรอกข้อมูลให้ครบตามแบบฟอร์ม เพื่อยืนยันตัวตนและรับรหัสผ่านเข้าใช้ระบบ เมื่อสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว ให้เข้าสู่ระบบด้วย Username และรหัสผ่านที่ได้รับ 
  3. คลิกที่เมนู ‘ค้นหาชื่อนิติบุคคล’ เพื่อตรวจสอบว่าชื่อบริษัทที่คุณตั้งมานั้นสามารถใช้ได้หรือไม่ โดยพิมพ์ชื่อบริษัทที่ช่องค้นหา แล้วคลิกปุ่ม ‘ค้นหา’
  4. หากชื่อไม่ซ้ำ ให้คลิกต่อที่เมนู ‘จองชื่อนิติบุคคล’ จากนั้นเลือก ห้างหุ้นส่วน/บริษัทจำกัด อ่านข้อตกลงและกดยอมรับ จะเข้าสู่การกรอกรายละเอียด
  5. กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน ใส่ชื่อบริษัทที่ต้องการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อกรอกแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว ให้เลือก *ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นทุกประการ และกดส่งคำขอ
  6. เมื่อส่งคำขอแล้ว ให้รอเจ้าหน้าที่อนุมัติประมาณ 1-2 วันทำการ หากได้รับการอนุมัติ เอกสารใบจองชื่อจะมีอายุ 30 วัน เพื่อนำไปประกอบการยื่นจดทะเบียนบริษัทต่อไป 

ส่วนในกรณีที่คุณต้องการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ การจองชื่อจะสามารถทำไปพร้อมๆ กับการจดทะเบียนบริษัทได้เลย โดยระบบจะให้คุณใส่ชื่อบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และทำการตรวจสอบให้อัตโนมัติว่าชื่อซ้ำหรือไม่ หากไม่ซ้ำก็เลื่อนลงไปอ่านข้อตกลงด้านล่าง และกดยอมรับ จากนั้นกดหน้าถัดไปเพื่อทำการกรอกข้อมูลอื่นๆ ในการจดทะเบียนบริษัทต่อไป 

อ่านวิธีจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ด้วยตัวเอง คลิกบทความด้านล่างได้เลย!

เทคนิคการตั้งชื่อบริษัทให้ปัง และถูกกฎหมาย!

  1. สะกดง่าย อ่านง่าย และออกเสียงง่าย : ชื่อบริษัทที่อ่านง่ายและออกเสียงง่าย มองปร๊าดเดียวก็สามารถอ่านออก จะทำให้ลูกค้าจดจำชื่อได้เร็ว นำไปบอกต่อหรือรีวิวได้ง่าย ไม่กลัวที่จะออกเสียง 
  2. ไม่ซ้ำ และไม่ใกล้เคียงธุรกิจอื่น : การตั้งชื่อบริษัท หรือชื่อธุรกิจซ้ำกับชื่อของคนอื่น อาจทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทแย่ลง (ในกรณีที่คุณมาทีหลัง) ลูกค้าสับสน ทั้งยังยุ่งยากในขั้นตอนการจองชื่อและจดทะเบียนบริษัทอีกด้วย
  3. ใช้ชื่อกว้างๆ รองรับการขยับขยาย : หากคุณมีแพลนจะขยับขยายธุรกิจ เปิดไลน์สินค้าเพิ่ม หรืออะไรก็ตามแต่ แนะนำให้ตั้งชื่อบริษัทเป็นชื่อที่ไม่เฉพาะเจาะจงจนเกินไป เช่น วันนี้ตั้งชื่อบริษัทว่า ไก่ย่างแสนดี แต่ในอนาคตต้องการขายหมูย่างเพิ่มเติม ก็ควรใช้ชื่อกว้างๆ เช่น ปิ้งย่างแสนดี เป็นต้น
  4. ไม่ใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อบริษัท : ชื่อ-นามสกุล สามารถบ่งบอกถึงตัวเจ้าของกิจการได้ก็จริง แต่ในมุมของความครีเอท การใช้ชื่อ-นามสกุลของตัวเองยังไม่ค่อยตอบโจทย์ความสร้างสรรค์ ไม่น่าดึงดูดใจ ทั้งยังไม่บ่งบอกถึงประเภทของธุรกิจอีกด้วย  
  5. ชื่อบริษัทควรเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ
  • ไม่มีคำหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี รัชทายาท หรือพระบรมวงศานุวงศ์ 
  • ไม่มีคำหรือข้อความที่ใกล้เคียงกับชื่อกระทรวง หน่วยงานราชการ หรือองค์กรของรัฐ
  • ไม่มีชื่อประประเทศ เว้นแต่จะอยู่ต่อท้ายชื่อ และอยู่หน้าคำว่าจำกัด เช่น บริษัท แสนดี (ปะเทศไทย) จำกัด
  • ชื่อบริษัทต้องไม่ขัดกับนโยบายของรัฐ 

บทความแนะนำ!

หวังว่าบทความนี้จะครบถ้วนและช่วยให้เหล่าผู้ประกอบทั้งหลายสามารถนำไปประกอบการจดทะเบียนบริษัทและจองชื่อบริษัทออนไลน์กันได้ด้วยตัวเองนะคะ OfficeMate พร้อมสนับสนุนทุกธุรกิจ ซึ่งนอกจากบทความนี้แล้ว เรายังมีสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในธุรกิจต่างๆ ให้คุณสั่งซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า! และคุณภาพดีกว่า! ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องเสี่ยง แถมด้วยบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท! มองหาของใช้ไปรันธุรกิจ คลิกเลยที่เว็บไซต์ OfficeMate   

บทความอื่นๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก