ชีวิตแต่ละวันของพนักงานออฟฟิศ กว่า 10 ชั่วโมงที่ต้องนั่งอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ อาจจะดูสบายๆ ไม่ได้ใช้แรงอะไรมากมาย แต่การนั่งทำงานเฉยๆ ก็ส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกัน หลายครั้งที่เราทำงานเพลินๆ บางคนเพลินจนลืมกินข้าว กลายเป็นโรคกระเพาะ บางคนเพลินจนลืมเวลา ทำงานจนดึกดื่น เหนื่อยล้าจนเครียด นอนไม่หลับ ไม่สดใส และอีกหนึ่งอย่างที่หลายคนมักจะละเลยตอนทำงานเพลินๆ ก็คือ ท่านั่งทำงาน  

ท่านั่งทำงาน อาจเรียกว่าเป็นภัยเงียบที่คอยบ่อนทำลายสุขภาพชาวออฟฟิศทีละนิดก็เป็นได้ การนั่งทำงานผิดท่าสามารถนำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรง บางคนต้องกินยาประจำ บางคนอาจต้องกายภาพบำบัด หรือบางคนอาจถึงขั้นต้องผ่าตัด แต่เพื่อไม่ให้ไปถึงขั้นนั้น วันนี้ OfficeMate เลยรวบรวม 4 ท่านั่งทำงานสุดอันตราย ใครที่รู้ตัวว่านั่งทำงานท่านี้อยู่ เลี่ยงได้เลี่ยง รีบปรับซะตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพคอ บ่า ไหล่ที่ดีในวันข้างหน้า! ไปดูกัน   

4 ท่านั่งทำงาน เสี่ยงทำลายสุขภาพระยะยาว

นั่งไขว่ห้าง

การนั่งไขว่ห้างเป็นการทิ้งน้ำหนักตัวทั้งหมดลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่ง หากนั่งไขว่ห้างในท่าเดิมนานๆ จะส่งผลให้ปวดหลัง และหากติดการนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ อาจทำให้กระดูกสันหลังคดงอ ผิดรูป หรือร้ายแรงกว่านั้นคือทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อม อาจถึงขั้นต้องผ่าตัด

นอกจากทำให้ปวดหลังแล้ว การนั่งไขว่ห้างยังทำให้เส้นเลือดที่ขาถูกกดทับ เลือดสูบฉีดไม่เต็มที่ ทำให้ขาชา หรือมีอาการปวดเมื่อย ทั้งยังทำให้ต้นขาใหญ่ขึ้น ด้วยความที่เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดอาการบวมน้ำ และเกิดไขมันสะสมที่ต้นขาเพิ่มมากขึ้นได้  

นั่งขัดสมาธิ

นั่งทำงานผิดท่า ปวดหลัง

นั่งขัดสมาธินานๆ ทำให้เกิดเหน็บชาที่ขา เพราะเส้นเลือดบริเวณข้อพับขาถูกกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ยิ่งกับคนที่มีน้ำหนักตัวเยอะ หรือคนที่มีปัญหาเรื่องกระดูก การนั่งขัดสมาธิทำงานนานๆ สามารถทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้ จุดสังเกตของอาการข้อเข่าเสื่อม คือ ปวดเข่าเมื่อต้องลุกขึ้นยืน เหยียดขาตอนนอน เดินขึ้น-ลงบันได หรือถ้าเป็นมากขึ้น จะส่งผลให้ขาโก่งผิดรูป ข้อเท้าบวมและบิดได้ง่าย ทั้งยังส่งผลให้กระดูกสันหลังคดหรือเคลื่อน หากปล่อยเอาไว้จะทำให้เดินลำบากขึ้น และบางคนอาจถึงขั้นเดินไม่ได้เลยก็มี    

นั่งหลังงอ หลังค่อม

บางครั้งที่ต้องนั่งทำงานนานๆ หลายคนก็อาจจะนั่งงอหลัง หรือนั่งหลังค่อมไปแบบไม่รู้ตัว ซึ่งนอกจากทำให้เสียบุคลิกแล้ว การนั่งหลังค่อมยังส่งผลโดยตรงกับกระดูกสันหลัง หากนั่งจนติดเป็นนิสัย นานวันเข้าสามารถทำให้เป็นโรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) หรือโรคกระดูกสันหลังโค้งผิดปกติ (Kyphosis) หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจต้องเข้ารับการกายภาพบำบัด หรือผ่าตัด นอกจากนั้น การนั่งหลังค่อม ยังทำให้กล้ามเนื้อหลังแข็งเกร็ง ซึ่งส่งผลให้เกิดการคั่งของกรดแลคติก ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยที่บริเวณไหล่ และสะโพก    

นั่งไม่เต็มก้น

นั่งไม่เต็มก้น หรือนั่งทำงานแบบหลังไม่ติดพนักพิง จะทำให้หลังของเราต้องรับภาระแบกน้ำหนักตัวแทนก้นกบ ทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องทำงานมากขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อย การนั่งแบบไม่พิงพนัก ยังอาจทำให้เรานั่งหลังค่อมไปแบบไม่รู้ตัว ซึ่งอย่างที่บอกว่าผลกระทบนั้นร้ายแรงต่อกระดูกสันหลังมากเลยทีเดียว

นั่งทำงานบนเตียง

การนั่งทำงานบนเตียง หรือ Work from bed ดูเหมือนจะสบาย แต่จริงๆ แล้ว บนเตียงนุ่มๆ นี้ กล้ามเนื้อทุกส่วนของเรา ตั้งแต่คอ หลัง สะโพก ไหล่ และแขน ต้องเกร็งและทำงานหนักกว่าปกติ เพื่อพยุงร่างกายไม่ให้ไหลยวบไปกับเตียง แม้จะไม่ได้มีอาการปวดเมื่อยเกิดขึ้นทันที แต่ถ้านั่งหรือนอนทำงานบนเตียงบ่อยๆ ในอนาคตหรือเมื่ออายุมากขึ้น ความเจ็บปวดที่สะสมมา จะทำให้เกิดปัญหาที่กระดูกและข้อ ทำให้ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดกระดูกเชิงกราน กลายเป็นผลกระทบเรื้อรังที่แสดงออกตอนอายุมาก ซึ่งทำให้เจ็บปวดและใช้ชีวิตลำบากขึ้นแน่นอน 

นั่งทำงานยังไงให้ไม่ปวดหลัง?

จาก 4 ท่านั่งสุดอันตราย หลายคนคงเกิดคำถามว่าแล้วจะนั่งทำงานยังไงให้ไม่ปวดหลังล่ะ?

ท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง
  • อันดับแรก ขอแนะนำให้ชาวออฟฟิศลุกขึ้นมาจัดพื้นที่ทำงานให้เป็นกิจจะลักษณะ มีโต๊ะ มีเก้าอี้ อาจเป็นเก้าอี้เพื่อสุขภาพ (Ergonomic) หรือเก้าอี้ทำงานทั่วไป แต่ขอให้มีพนักพิง มีที่วางแขน และจะดีที่สุดหากเก้าอี้สามารถปรับระดับความสูงต่ำได้
  • เก้าอี้ต้องปรับให้ได้ระดับกับโต๊ะ คือสามารถนั่งทำงานได้โดยที่ฝ่าเท้าแตะพื้นพอดี และข้อศอกตั้งฉาก 90 องศา ขนานไปกับโต๊ะ 
  • หลังต้องชิดติดกับพนักพิง บริเวณก้นกบไม่ควรเหลือช่องว่าง อาจหาหมอนเล็กๆ ม้วนผ้าขนหนู หรือใช้หมอนรองหลัง จะช่วยให้เรานั่งหลังตรงได้อัตโนมัติ ช่วยรับน้ำหนัก ทำให้แผ่นหลังไม่เกร็งตึง และนั่งทำงานนานๆ ได้สบายขึ้น
  • หรือถ้าอยากนั่งทำงานบนเตียง ควรมีโต๊ะวางโน้ตบุ๊ก นั่งหลังตรงพิงหัวเตียง แนะนำว่าให้มีหมอนรองหลัง หรือม้วนผ้าขนหนูรองไว้บริเวณก้นกบ

นอกจากปรับท่านั่งเพื่อป้องกันการปวดหลังแล้ว พื้นที่ทำงานควรมีแสงสว่างเพียงพอ  เพื่อลดความเสี่ยงจอประสาทตาเสื่อมจากการจ้องโน้ตบุ๊กนานๆ อากาศควรถ่ายเทสะดวก และอย่าลืมขยับท่าทางเปลี่ยนอิริยาบถ ลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสายอย่างน้อยทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ให้เลือดได้ไหลเวียน และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ใครกลัวลืมก็ตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ ฝึกทำให้ชินจนเป็นนิสัย จะได้ไม่ต้องทรมานกับอาการปวดหลัง ปวดไหล่ในวันข้างหน้านะคะ

ด้วยสภาวะโรคระบาดที่ยังไม่ดีขึ้น มีแนวโน้มว่าชาวออฟฟิศอาจจะได้ WFH กันไปอีกยาวๆ OfficeMate จึงอยากแนะนำให้ลงทุนกับโต๊ะทำงาน และเก้าอี้ทำงานดีๆ ซักตัว จะได้ไม่ต้องทนปวดหลัง หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง เพราะการที่เรามีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่ปวดหลัง ถือเป็นลาภอันประเสริฐ และสุขภาพดีๆ ยังส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นได้อีกด้วย

ช้อปโต๊ะทำงาน เก้าอี้ทำงาน หรือเก้าอี้เพื่อสุขภาพ ได้เลยที่เว็บไซต์ OfficeMate!

อ่านบทความเพิ่มเติม

ขอบคุณข้อมูลจาก : sanook