
เหล่ามนุษย์เงินเดือน น่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ กันมาบ้างแล้ว เพราะในปัจจุบันบริษัทเอกชน รวมถึงรัฐวิสาหกิจ กว่า 18,000 แห่ง ต่างจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้เป็นเสมือนสวัสดิการอย่างหนึ่งที่เหล่าลูกจ้าง หรือมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จะได้รับ ไปดูกันดีกว่าค่ะว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ว่านี้คืออะไร? แล้วหากลงทุนไปจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อเก็บเป็นเงินออมสำรองไว้ให้ลูกจ้างได้ใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ ลาออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดยเงินที่ใช้ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ มาจากเงิน 2 ส่วน คือ
- เงินสะสม
เงินสะสม เป็นเงินลงทุนในส่วนของลูกจ้าง ซึ่งจะหักจากยอดเงินเดือนตามอัตราที่นายจ้างกำหนด ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% และไม่เกิน 15% ของเงินเดือน
- เงินสมทบ
เงินสมทบ เป็นเงินลงทุนในส่วนของนายจ้าง ที่จะจ่ายเข้ากองทุนของลูกจ้างทุกเดือน หรือทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินค่าจ้าง ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% และไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้าง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ลูกจ้างจะได้รับ เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงิน และเสริมความมั่นคงในชีวิต โดยดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ทำไมควรลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ การมีหลักประกันในชีวิต หรือมีเงินสำรองเอาไว้เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็คงจะดีกว่า นอกจากนั้น เงินจากกองทุนสำรองที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ยังจะช่วยให้คุณสะดวกสบายขึ้นในวัยเกษียณอีกด้วย เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีแหล่งรายได้ไม่มากนัก การร่วมลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ถือเป็นการวางแผนอนาคตที่มนุษย์เงินเดือนแม้จะได้ค่าจ้างไม่มากสามารถทำได้ แถมยังเป็นการออมที่เราเองก็แทบไม่รู้ตัวว่าในทุกๆ เดือน เราได้ออมเงินทีเล็กทีละน้อยอีกด้วย
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีประโยชน์กับใคร?
ประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- มีเงินออมเก็บไว้รองรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ
- เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถใช้เป็นหลักประกันให้กับครอบครัว ว่าจะมีเงินก้อนรองรับ ในกรณีที่ลาออกจากงาน หรือเสียชีวิต
- ถือเป็นการสร้างวินัยการออมแบบระยะยาว
- นอกจากเงินลงทุนในส่วนของตัวเองแล้ว ยังได้เงินสมทบจากนายจ้างทุกๆ เดือน ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
- เงินที่ใช้ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงในปีภาษี โดยไม่เกิน 500,000 บาท หรือไม่เกิน 15% ของรายได้

ประโยชน์ที่นายจ้างจะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เปรียบเสมือนสวัสดิการนี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ทั้งยังเป็นกลยุทธ์ดึงดูด ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกจ้างได้อีกด้วย
- เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบในกองทุน สามารถนำหักค่าใช้จ่ายของบริษัทได้
ข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้คืนตอนไหน?
ผู้เป็นสมาชิกในกองทุนจะได้รับเงินคืนในส่วนของ ‘เงินสะสม’ แบบเต็มจำนวน (จ่ายเท่าไหร่ ได้รับคืนเท่านั้น) เมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ในส่วนของ ‘เงินสมทบ’ จะได้รับคืนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อบังคับ เช่น พนักงานจะได้รับเงินสมทบคืน 5% เมื่อทำงานครบ 1 ปี หรือ พนักงานจะได้รับเงินสมทบคืน 10% เมื่อทำงานครบ 2 ปี ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีกฎหรือข้อบังคับแตกต่างกันออกไป
ลาออกแล้ว หรืออยากปิดบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องจัดการกับเงินในกองทุนอย่างไร?
หากคุณตัดสินใจลาออกจากงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณสามารถจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ 3 วิธี ได้แก่
- ในกรณีที่คุณเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ คุณสามารถคงเงินสะสมไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขององค์กรเดิมแบบชั่วคราวได้อีก 1 ปี เพื่อรอโอนไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขององค์กรใหม่ แต่คุณจะไม่ได้รับเงินสมทบจากองค์กรเดิม
- โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
- นำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วนำไปใช้จ่าย หรือนำไปต่อยอดเอง

ลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรให้คุ้มค่า?
การลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ซึ่งตามกฏหมาย เราสามารถเลือกลงทุนได้ตั้งแต่ 2-15% ต่อเดือน แล้วก็จะมีเงินจากนายจ้างสมทบร่วมอีกในทุกๆ เดือน จะเห็นได้ชัดเลยว่า ยิ่งเราเลือกลงทุนในอัตราสูงๆ ยอดเงินสะสมก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการออมมากขึ้นอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อยากให้พิจารณาจากจำนวนเงินเดือน และค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แล้วเลือกลงทุนในอัตราที่ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนต้องมี
วิธีจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้