ก่อนจะเริ่มต้นลงมือทำธุรกิจโฮสเทล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ หรือดัดแปลงแก้ไขจากอาคารเดิมก็ตาม ในฐานะผู้ประกอบการหน้าใหม่ต้องทำความเข้าใจในเรื่องของข้อกำหนดทางกฎหมายเป็นอย่างแรก แม้ว่าโฮสเทลจัดเป็นที่พักขนาดเล็ก แต่ถ้าโฮสเทลของเรามีห้องพักเกิน 4 ห้อง มีจำนวนผู้เข้าพักรวมกันเกิน 20 คน และมีการคิดค่าเช่าเป็นรายวัน จะถูกจัดให้อยู่ในประเภทธุรกิจโรงแรม จึงจำเป็นต้องมีการขออนุญาตทำธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด มาดูกันดีกว่าว่า มีกฎหมายพื้นฐานใดบ้างที่คนทำธุรกิจโฮสเทลควรรู้

กฎหมายเกี่ยวกับตัวอาคารที่ใช้ทำโฮสเทล

กฎหมายสำหรับโฮสเทล_ด้านตัวอาคาร

วัตถุประสงค์ในการออกแบบอาคารแต่ละแห่งย่อมสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายควบคุมอาคารเพื่อควบคุมการก่อสร้างให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคารที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับอาคารที่ใช้ทำโฮสเทล ซึ่งต้องรองรับการใช้งานของคนจำนวนมากนั้น ใช่ว่ามีแค่อาคารแล้วจะสามารถดัดแปลงเป็นที่พักได้เลยตามความต้องการ อย่างแรกคือ ต้องมีการตรวจสอบความชำรุดในจุดต่างๆ ของอาคาร เพราะอาคารยิ่งเก่ายิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเสื่อมโทรมด้านโครงสร้างและวัสดุ ในกรณีที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายระบุไว้

หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยแก้ไข พ.ร.บ. ควบคุมอาคารได้ผ่อนปรนกฎเหล็กหลายข้อ ช่วยเปิดโอกาสให้โรงแรมขนาดเล็กรวมถึงโฮสเทลเข้าสู่ระบบธุรกิจ และสามารถขอใบอนุญาตโรงแรมได้อย่างถูกต้อง โดยลดสเปคบางอย่างลงเพื่อให้อาคารต่างๆได้ปรับปรุงแก้ไขให้มีมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งในส่วนการขอเปลี่ยนแปลงจากอาคารที่พักอาศัยเป็นการขออนุญาตทำโรงแรม ได้มีการกำหนดเรื่องความปลอดภัยที่เข้มมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการโฮสเทลและนักท่องเที่ยวที่เข้าพัก เช่น ขนาดพื้นที่ใช้สอย การติดตั้งระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัย รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น ผู้ประกอบต้องดำเนินการตามกฎหมายตั้งแต่ขออนุญาต ก่อสร้าง จนเมื่ออาคารแล้วเสร็จ ก็ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลอาคารนั้นๆให้ปลอดภัยอีกด้วย

กฎหมายด้านความปลอดภัยของผู้เข้าพักโฮสเทล

กฎหมายสำหรับโฮสเทล_ด้านความปลอดภัย

นอกเหนือจากความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารที่ได้มาตรฐานตามกฎหมายแล้วนั้น ความปลอดภัยส่วนบุคคลสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในโฮสเทล ก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้เช่นกัน สำหรับการเข้าพักตาม พ.ร.บ.โรงแรมโดยทั่วไปกำหนดให้มีการลงทะเบียนผู้พัก เพื่อให้ทางการสามารถตรวจสอบได้หากมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น โฮสเทลเองก็ต้องมีในส่วนนี้เช่นกัน  เพราะเรื่องของการบริการและความปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ทางโฮสเทลเองก็จะต้องดูแลความปลอดภัยทั้งในส่วนของผู้ที่เข้ามาพัก และในส่วนของพนักงานเอง โฮสเทลส่วนใหญ่มีการติดกล้องวงจรปิดเพื่อคอยดูว่าผู้เข้าพักได้รับความสะดวกหรือเกิดปัญหาอะไรขึ้นหรือไม่ ผู้ประกอบการเองต้องเฝ้าระวังและพัฒนาด้านปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าพักในโฮสเทล โดยเฉพาะความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เบาะนอน ผ้าปูที่นอน อ่างล่างหน้า ฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น รวมถึงการรับผิดชอบเรื่องทรัพย์สินของผู้เข้าพักตามมาตราที่บัญญัติไว้เช่นกัน

กฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนและเสียภาษี

กฎหมายสำหรับโฮสเทล_ด้านภาษี

เมื่อการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารเพื่อใช้ประกอบธุรกิจโฮสเทลแล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปคือ การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เพื่อให้โฮสเทลของเราเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด อีกเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการโฮสเทลจะต้องรู้ คือ รูปแบบธุรกิจและการวางแผนภาษีให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายโรงแรม เพื่อให้ผลประกอบการดำเนินไปได้อย่างไม่มีสะดุด ซึ่งรูปแบบธุรกิจมีทั้งเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียวและนิติบุคคล การที่โฮสเทลเข้าสู้ระบบอย่างถูกต้องเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการได้ครบถ้วนมากขึ้น ช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการเกี่ยวกับโรงแรมทั่วประเทศให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจโรงแรม มีดังนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือภาษีอากรที่ถือเป็นภาษีทางอ้อม เก็บจากผู้ซื้อสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ทุกธุรกิจที่ไม่ได้รับการยกเว้น ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม หากกิจการมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีข้อดีก็คือ สามารถนำภาษีซื้อจากค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการมาหักออกจากภาษีขายที่เรียกเก็บจากผู้มาพักที่โฮสเทลได้

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ กับที่ดินที่ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องไปกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้น  ซึ่งเกณฑ์ในการคำนวณภาษีโรงเรือน สำหรับกิจการประเภทกลุ่มโรงแรม ทั้งรีสอร์ท ห้องพักรายวัน รวมถึงโฮสเทล คือ

ค่าเช่าห้อง/วัน x จำนวนห้องทั้งหมด x 365 วัน x 8 % = ค่ารายปี

ค่ารายปี x 12.5% = ภาษีโรงเรือนที่ต้องชำระ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีตามกฎหมายอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบธุรกิจโฮสเทลเลือกประกอบธุรกิจในประเภทใด

ไม่ว่าขนาดของธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ ผู้ประกอบการพึงระลึกไว้เสมอว่าการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายจะส่งผลดีในระยะยาว สำหรับใครที่อยู่ในแวดวงธุรกิจโฮสเทลที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียน แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำโฮสเทลเข้าระบบให้ถูกกฎหมาย  เป็นการยกระดับให้โฮสเทลมีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือมากขึ้น นี่อาจเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดในการทำธุรกิจโฮสเทลเพื่อเปิดโอกาสในการทำการตลาดและสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงมากขึ้นในอนาคต

ผู้ประกอบการธุรกิจโฮสเทล ที่กำลังมองหาสินค้าที่สำหรับเริ่มต้นหรือต่อยอดธุรกิจ สามารถเข้ามาช้อปออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ OfficeMate ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการส่งฟรี*