Site icon OFM blog

How to เลือกหน้ากากสำหรับงานอุตสาหกรรม

ในปัจจุบัน หน้ากาก เป็นอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยที่ถูกพกติดตัวอันดับต้น ๆ สืบเนื่องมาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายนั้นเป็นที่พบได้อย่างกว้างขวางในคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเพศไหน หรือจะทำอาชีพอะไรก็คงเลี่ยงสภาวะอากาศที่เป็นพิษได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ที่เรียกได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ทำงาน หรือออกมาข้างนอก ก็เสี่ยงกับการรับเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ในบทความนี้ จึงขอนำเสนอเทคนิคในการเลือกรูปแบบหน้ากากสำหรับงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางให้กับทั้งเจ้าของกิจการ หัวหน้างาน หรือแม้แต่ผู้ปฏิบัติงานในการเลือกอุปกรณ์ที่ได้คุณภาพ ปกป้องความปลอดภัยให้กับคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ก่อนอื่นเลยเราควรที่จะรู้จักหน้ากากสำหรับงานอุตสาหกรรมที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ นั่นก็คือ

  1. หน้ากากสำหรับกรองมลพิษในอากาศ
  2. หน้ากากสำหรับส่งต่ออากาศ

โดยแต่ละประเภทก็ยังสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกตามรูปแบบการใช้งาน

หน้ากากสำหรับกรองมลพิษในอากาศ

หลักการทำงานของหน้ากากประเภทนี้ คือ การกรองอากาศที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจให้สะอาด ปราศจากมลพิษ หรืออาจเปรียบการทำงานได้กับเครื่องฟอกอากาศขนาดย่อม ๆ โดยสามารถแบ่งตามการใช้งานได้ ดังนี้

หน้ากากกรองอนุภาค

ทำหน้าที่ในการกรองฝุ่น ควัน หรืออนุภาคอื่น ๆ ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ หากต้องการเลือกอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและระบบทางเดินหายใจที่สามารถทำงานได้ในประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกหน้ากากที่มีโครงสร้างส่วนประกอบสำคัญอย่างครบถ้วน อันได้แก่ ส่วนหน้ากาก ส่วนกรอง และสายรัดศีรษะ

หน้ากากกรองก๊าซและไอระเหย

ทำหน้าที่ในการกรองก๊าซและไอระเหยต่าง ๆ ที่แขวนลอยอย่ในอากาศ มี 2 ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ส่วนหน้ากาก และส่วนกรองอากาศ

สำหรับส่วนหน้ากากจะคล้ายกับประเภทกรองอนุภาค ที่แตกต่างกันจะเป็นส่วนกรองอากาศ ที่ส่วนใหญ่มีรูปแบบเป็นตลับหรือกระป๋องบรรจุสารเคมี ส่วนกรองอากาศนี้จะทำงานโดยการดูดซับหรือทำปฏิกิริยากับมลพิษและสารเคมีในอากาศ ทำให้อากาศที่จะไหลเวียนเข้ามาด้านในมีความสะอาด หน้ากากประเภทนี้มีความพิเศษตรงที่สามารถใช้กับก๊าซและสารเคมีต่าง ๆ ตามชนิดที่ระบุไว้เท่านั้น เช่น หน้ากากกรองก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะไม่สามารถใช้ป้องกันก๊าซ สารระเหย หรือสารเคมีชนิดอื่นได้ เพราะฉะนั้น จึงควรเลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับชนิดของก๊าซพิษหรือสารเคมีที่ต้องพบเจอ

โดย American National Standard ได้มีการกำหนดมาตรฐาน (ANSI K 13.1-1973) โดยแบ่งรหัสสีของตลับกรองอากาศ เพื่อการใช้งานกรองก๊าซ และไอระเหยที่แตกต่างกัน ดังนี้

สีขาว : ก๊าซที่เป็นกรด

สีดำ : ไอระเหยอินทรีย์

สีเขียว : ก๊าซแอมโมเนีย

สีน้ำเงิน : ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์

สีเหลือง : ก๊าซที่เป็นกรด และไอระเหยอินทรีย์

สีน้ำตาล : ก๊าซที่เป็นกรด แอมโมเนีย และไอระเหยอินทรีย์

สีแดง : ก๊าซที่เป็นกรด แอมโมเนีย คาร์บอนมอนอกไซด์ ไอระเหยอินทรีย์

สีม่วง : สารกัมมันตรังสี (ยกเว้น ไทรเทียม และโนเบลก๊าซ)

สีส้ม : ฝุ่น ฟูม มิสท์

สีเขียวมะกอก : ไอระเหยอื่น ๆ และก๊าซที่ไม่กล่าวไว้ข้างต้น

นอกจากนั้น หน้ากากกรองก๊าซและไอระเหยยังสามารถแบ่งประเภทย่อย ๆ ลงได้อีก ดังนี้

  1. หน้ากากกรองก๊าซ และไอระเหย ชนิดตลับกรองสารเคมี (Cartridge respirator) เหมาะสำหรับการป้องกันก๊าซและไอระเหยที่มีความเข้มข้นประมาณ 10-1,000 ppm. และไม่ควรจะใช้กับสารที่มีความเข้มข้นสูงกว่านั้น เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  2. หน้ากากกรองก๊าซ (Gas mask) มีลักษณะคล้ายกับหน้ากากแบบแรก แตกต่างกันแค่ส่วนที่บรรจุสารเคมีที่ทำหน้าที่ฟอกอากาศที่เป็นพิษให้สะอาด ก่อนส่งต่อเข้าสู่ร่างกายของผู้สวมใส่ ส่วนกรองอากาศสำหรับหน้ากากประเภทนี้มักจะใช้เป็นรูปแบบกระป๋องที่บรรจุสารเคมีติดตั้งบริเวณส่วนคางหรือส่วนหน้าของหน้ากาก
  3. หน้ากากชนิดที่มีพลังงาน ช่วยเป่าอากาศเข้าในในหน้ากาก (Powered air-purifying respirator) โครงสร้างคล้ายคลึงกับ 2 แบบแรก ความพิเศษอยู่ตรงที่มีเครื่องเป่าอากาศผ่านตลับหรือกระป๋องบรรจุสารเคมี หรือที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆ คือ มีพัดลมติดตั้งอยู่กับหน้ากากและตัวชุด ซึ่งจะช่วยให้อากาศไหลเวียนได้ดี และผู้สวมใส่จะสามารถหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้งาน

หน้ากากสำหรับส่งต่ออากาศ

หลักการทำงานของหน้ากากประเภทนี้ คือ ต้องมีท่อต่อหรืออุปกรณ์ส่งอากาศไปให้กับผู้สวมใส่ได้หายใจ โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

SCBA ชนิดที่ติดตัวผู้สวมใส่ (Self-contained breathing apparatus)

รูปแบบการใช้งานของอุปกรณ์ส่งอากาศชนิดนี้ คือ ผู้สวมใส่จะสามารถพกติดตัวไปได้ตลอด โดยมีระยะเวลาทำงานประมาณ 4 ชั่วโมง โดยมีส่วนประกอบหลัก ๆ ได้แก่ ถังอากาศ สายรัดติดตัวผู้สวม เครื่องควบคุมความดันและการไหลของอากาศ เรามักพบเห็นการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ในงานที่ต้องการความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว เช่น งานดับเพลิง เป็นต้น

SAR ชนิดที่ส่งอากาศไปตามท่อ (Supplied air respirator)

อุปกรณ์ถังเก็บอากาศจะไม่ได้อยู่ติดตัวกับผู้สวมใส่ แต่จะทำงานโดยการส่งอากาศผ่านมายังท่อเข้าสู่หน้ากาก

ข้อควรระวังในการใช้งาน

หลาย ๆ ปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้หน้ากากที่ป้องกันสารเคมีให้ตรงประเภท การตรวจสอบระดับในการป้องกันของหน้ากากแต่ละยี่ห้อ ความสะดวกในการใช้งานของอุปกรณ์ส่งอากาศทั้งรูปแบบพกติดตัว หรืออยู่ห่างจากตัว การตรวจสอบสภาพของหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันก่อนการใช้งาน ไปจนถึงการดูแลรักษาความสะอาด เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ประกอบการและตัวคนทำงานเองจะมองข้ามไปไม่ได้ เมื่อเลือกหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมกับการทำงาน ย่อมจะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยจากการสัมผัสกับสารพิษที่เป็นอันตรายลงได้อย่างเห็นผลชัดเจน

 

 

ขอบคุณข้อมูล

 

Exit mobile version