Site icon OFM blog

ไม่มีโอโซนจะอยู่อย่างไร! หันมาใส่ใจชั้นโอโซน ผู้พิทักษ์โลกจากรังสี UV

ชั้นโอโซน เปรียบเหมือนเกราะบางๆ ที่ห่อหุ้มโลกไว้ ทำหน้าที่คอยปกป้องสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้ จากอันตรายของรังสี UV ที่มาจากดวงอาทิตย์

วันที่ 16 กันยายน ของทุกปี ถือเป็นวันโอโซนโลก หรือ International Day for the Preservation of the Ozone Layer วันนี้ถูกตั้งขึ้นสืบเนื่องจากพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ในปี ค.ศ.1987 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุม และลดการใช้สาร CFCs ที่ทำลายชั้นโอโซนและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เราควรหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยเริ่มที่การทำความรู้จักกับ “โอโซน” ก๊าซที่คอยปกป้องชีวิตของพวกเรากันก่อนดีกว่าค่ะ

โอโซน คืออะไร?

โอโซน (Ozone) คือ ก๊าซชนิดหนึ่งที่พบได้บริเวณชั้นบรรยากาศของโลก 1 โมเลกุลของโอโซนประกอบด้วย ออกซิเจนถึง 3 อะตอม ในห้องทดลองเราสามารถมองเห็นก๊าซโอโซนเป็นสีน้ำเงินจางๆ และมีกลิ่นค่อนข้างฉุน ปริมาณของโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกค่อนข้างเบาบาง เราจะพบว่าโอโซนมีปริมาณน้อยกว่า 1 ในล้านของโมเลกุลทั้งหมดเมื่อเทียบกับโมเลกุลของก๊าซต่างๆ หรือพูดให้เห็นภาพกว่านั้นก็คือ หากลองนำโมเลกุลของโอโซนทั่วโลกมาบีบอัด จะได้ขนาดเท่าเหรียญ 1 ดอลลาร์เท่านั้นเองค่ะ

ชั้นโอโซน อยู่ส่วนไหนของโลก

ชั้นโอโซน (Ozone layer) เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือขึ้นไปจากพื้นโลกประมาณ 20-50 กิโลเมตร บริเวณบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าชั้นโอโซนเปรียบเหมือนเกราะบางๆ ที่ห่อหุ้มและปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยโอโซนจะคอยดูซับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสี UV ที่มาจากดวงอาทิตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รังสี UV-B เพื่อให้รังสีอันตรายเหล่านี้ผ่านมายังโลกในปริมาณที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งรังสี UV เมื่อตกกระทบกับสิ่งมีชีวิตโดยตรงเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตทั้งจุลินทรีย์ พืช สัตว์ และมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ช่องโหว่ชั้นโอโซน หายนะที่เกิดจากมือมนุษย์

เมื่อประมาณปี ค.ศ.1980 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบช่องโหว่ของชั้นโอโซนบริเวณเหนือทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งหลังจากการประกาศเรื่องนี้ออกไป ทำให้ทุกคนตื่นตัวในเรื่องการทำลายชั้นโอโซนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และที่น่าตกใจคือสาเหตุของการเกิดช่องโหว่ชั้นโอโซน เกิดจากสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น และนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำสินค้าบางชนิด ซึ่งกระบวนการผลิตสินค้าเหล่านี้อาศัยสารที่สังเคราะหฺขึ้น อย่างสารคลอโรฟลูโอคาร์บอน (Chlorofluorocarbon) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สาร CFC  นอกจากนี้ยังมีสารตัวอื่นๆ ที่เป็นสารทำหลายชั้นโอโซน เรียกโดยรวมคือ ODSs (Ozone Depleting Substances) นอกจาก CFCs ก็ยังมี Hydrochlorofluorocarbons (HCFCs), Carbon tetrachloride และ Methyl chloroform

ชั้นโอโซนบางลงและเป็นช่องโหว่ ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในวงกว้าง

ช่องโหว่ของโอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสี UV-B จากดวงอาทิตย์กระทบเข้ากับมนุษย์ในปริมาณที่เข้มข้นขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเป็นวงกว้างทั่วโลก โดยหากเราได้รับรังสี UV-B มากเกินไป สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ รวมถึงรังสี UV จากแสงแดด ยังเป็นสาเหตุของปัญหาโรคต้อกระจก และอาจอันตรายถึงขั้นตาบอด ยังไม่หมดเท่านี้ อันตรายจากรังสี UV ยังส่งผลก่อให้เกิดโรคต่างๆ เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอีกด้วย

นอกจากโอโซนที่น้อยลงจะส่งผลต่อมนุษย์แล้ว ยังส่งผลต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล อย่างเช่นตะไคร้น้ำ กุ้งตัวเล็กๆ ไข่ปลา ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานของห่วงโซอาหารในทะเลเลยทีเดียว เมื่อห่วงโซ่อาหารขั้นพื้นฐานเหล่านี้ถูกทำลายลดลง ทำให้อาหารทะเลต่างๆ ลดลงตาม ก่อเกิดเป็นปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรอาหารตามมา

แน่นอนว่าปริมาณรังสี UV ที่ลงมายังโลกมากขึ้นเนื่องจากชั้นโอโซนน้อยลง ส่งผลต่อพืชพันธุ์บนพื้นดินอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช และทำให้ลักษณะทางกายภาพของพืชเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบในขั้น DNA และเกิดโรคพืชมากมาย ทำให้ผลิตอาหารได้น้อยลง ทั้งหมดนี้นำไปสู้วิกฤตเกี่ยวกับอาหารทั่วโลกเลยทีเดียว

ผลกระทบจากการลดลงขอโอโซนในมุมนี้ หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่เนื่องจากรังสี UV ตกกระทบผิวโลกมากขึ้น ทำให้เกิดการเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายบนพื้นดินจนเกิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากเกินไป และทำลายวัฏจักรก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เราบ่นกันอยู่ทุกวันนี้ และเกิดเป็นมลพิษในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้วัตถุต่างๆ ที่รังสี UV ตกกระทบเป็นประจำ อย่างของใช้ที่เราตั้งไว้กลางแจ้งเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติอีกด้วย

สารทำลายชั้นโอโซน มาจากไหน?

เมื่อเรารู้แล้วว่าสารที่ทำลายชั้นโอโซน คือ ODSs ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มสาร CFCs เป็นต้น เราควรรู้ว่าสารเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในสินค้าประเภทใด เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการใช้งานสินค้าที่มีส่วนประกอบของสารเหล่านี้กันนะคะ

ใช้เป็นสารทำความเย็น สาร ODSs อย่างเช่นสาร CFC-11 CFC-12 หรือ HCFC-22 ถูกนำไปใช้เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นตามบ้าน และตู้แช่เย็นที่ใช้กันตามร้านค้าปลีกทั่วๆ ไป

ใช้เป็นสารที่ทำหน้าที่ดันของเหลวออกมาจากกระป๋องสเปรย์ เช่น สเปรย์แต่งผม สเปรย์ดับกลิ่นกาย หรือสเปรย์ปรับอากาศที่ใช้ตามบ้านเรือน ซึ่งสาร ODSs ที่ใช้สำหรับสเปรย์คือพวก CFC-11 และ CFC-12

นอกจากนี้ CFC-11 และ CFC-12 ยังใช้ในกระบวนการเป่าโฟมในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นโฟมที่ใช้ตกแต่งบ้าน ฉนวนกันไฟ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหลาย รวมถึงพลาสติกที่ต้องนำมาขึ้นรูปต่างๆ ก็ใช้สาร CFCs ในการผลิต เช่น รางไข่ แก้วน้ำพลาสติก เป็นต้น และริจิดโฟม (Rigid Foam) เป็นโฟมที่มีความแข็ง นิยมนำมาเป็นฉนวนกันความร้อน และกันเสียง

สาร CFC-113 ถูกใช้เป็นตัวทำละลายในการทำความสะอาดแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ และใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์

สารชนิดอื่นๆ ที่เป็น ODS ทั้ง Halons, BCF และ BTM เป็นตัวทำละลายที่ใช้กันในถังดับเพลิง

Methyl Bromide หรือ เมทิล โบรไมด์ เป็นสารอีกตัวที่ทำลายชั้นโอโซน นิยมใช้รมควันผลผลิตทางการเกษตรเพื่อไร่แมลงก่อนการส่งผลผลิตนั้นออกนอกประเทศ หรือใช้รมควันหน้าดินก่อนการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังมีอยู่ในปุ๋ยเคมีอีกด้วย

เห็นไหมคะว่าจริงๆ แล้ว ในชีวิตประจำวันของเราพบเจอและใช้สินค้าที่มีส่วนประกอบของ ODSs หลากหลายชิ้น โมเลกุลของโอโซนที่ถูกทำลายไป เราอาจจะเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนทำลาย ในเมื่อเรารู้ถึงผลกระทบที่เกิดกับชั้นโอโซนของโลกเราแล้ว ลองเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการช่วยโลกเราได้นะคะ

เปลี่ยนพฤติกรรม ลดการทำลายชั้นโอโซน

หากทุกคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่างน้อยๆ บทความนี้คงช่วยให้ตระหนักถึงประโยชน์ของชั้นโอโซน และเหตุผลที่ทำไมเราต้องอนุรักษ์ชั้นโอโซนเอาไว้ การลดลงของโอโซนไม่เพียงแต่ทำให้เราได้รับผลกระทบจากรังสีอันตรายต่างๆ จากแสงอาทิตย์ แต่ยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโลก เป็นห่วงโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ นอกจากการปรับที่ตัวเองแล้ว ลองนำเรื่องราวเหล่านี้แชร์ให้กับคนรอบตัวของเราได้เข้าใจ ก็เป็นอีกวิธีที่จะปกป้องชั้นโอโซนได้มากขึ้นนะคะ

ร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ หันมาใส่ใจสภาวะโลกร้อน เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อาหารจากโฟมหรือพลาสติก เป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ หาซื้อได้ง่ายๆ ที่ OfficeMate ช้อปออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการส่งฟรี เมื่อสั่งซื้อครบ 499 บาท แถมด้วยเครดิตเทอมนาน 30 วัน!

ขอบคุณข้อมูล ozoneheroes.org/ greendiary.comepd.gov.hk

Exit mobile version